โรคอัลไซเมอร์ เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของภาวะสมองเสื่อมทั่วโลก และเชื่อว่ามีผู้สูงอายุประมาณ 6-7 แสนคนในประเทศไทยที่มีภาวะสมองเสื่อม แม้อัลไซเมอร์จะเป็นโรคที่ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายได้ แต่สามารถชะลอการเกิดหรือชะลอการเสื่อมถอยของโรคสมองเสื่อมให้ช้าที่สุดได้ ด้วยวิทยาการทางการแพทย์ที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง
การวินิจฉัยและรักษาโรคอัลไซเมอร์นั้น เดิมอาศัยวิธีประเมินอาการของผู้ป่วยซึ่งยืนยันการวินิจฉัยได้แน่ชัดจากการตรวจชิ้นเนื้อสมองหลังเสียชีวิตเท่านั้น และยาที่ใช้รักษายังเป็นเพียงการประคับประคองอาการยังไม่มีแนวทางรักษาให้หายขาด อย่างไรก็ตามในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่าโรคอัลไซเมอร์เกิดจากการสะสมของโปรตีนที่ผิดปกติในสมองที่เรียกว่าโปรตีนอะไมลอยด์เบต้าและโปรตีนเทาว์ ซึ่งนำไปสู่การค้นพบวิทยาการใหม่ ๆ การวินิจฉัยปัจจุบันมีการส่งตรวจพิเศษ ได้แก่
1. การตรวจภาพถ่ายรังสีนิวเคลียร์ด้วยเครื่องเพทสแกน (PET Scan) ซึ่งจะตรวจจับโปรตีนและปริมาณการกระจายตัวในการสะสมของโปรตีนบนส่วนต่าง ๆ ของสมอง เพื่อแปลผลผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ แยกโรคสมองเสื่อมอื่น ๆ มีโอกาสกลายเป็นสมองเสื่อมเต็มขั้นมากแค่ไหน เป็นวิธีการถ่ายภาพทางการวินิจฉัยที่ไม่เจ็บปวด โดยสามารถแสดงภาพในแบบ 3 มิติ แบบภาพตัดขวางตามแกนของร่างกาย และสามารถตรวจวัดหาค่าเชิงปริมาณของการกระจายของสารในร่างกาย, การทำงานของเซลล์, การทำงานของร่างกาย สรีรวิทยา และเมตาบอลิซึมของเนื้อเยื่อได้
2. การตรวจระดับโปรตีนโดยตรงจากน้ำไขสันหลังและในเลือด และได้มีการพัฒนาชุดตรวจและเครื่องมือทำให้ความแม่นยำเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 90 สำหรับการเจาะน้ำไขสันหลัง ต้องทำโดยแพทย์เท่านั้น วิธีการนี้มีผู้เข้าถึงและเข้ารับการตรวจน้อยเนื่องจากหลายคนกลัวเจ็บจากกระบวนการเจาะน้ำไขสันหลัง
ล่าสุดในช่วงสองปีที่ผ่านมาในอเมริกาและยุโรปได้มีการรับรองชุดตรวจในเลือดเพื่อใช้ในการวินิจฉัย สามารถใช้เพียงการเจาะเลือด 3-5 ซีซี ก็สามารถวินิจฉัยโรคได้ และยังพัฒนาเครื่องมือตรวจให้ใช้สะดวกมากขึ้น ในรูปแบบของแผ่นตรวจสำเร็จรูป โดยหยดเลือดลงไปในแผ่นตรวจก็อาจจะตรวจจับโปรตีนเหล่านี้ได้ (แบบเดียวกับการใช้ชุดตรวจโควิด) โดยอยู่ในขั้นตอนการศึกษาทดลอง
เดิมรักษาโรคอัลไซเมอร์ด้วยยาและใช้ยาตามอาการเพื่อเพิ่มสารสื่อประสาทในสมอง แต่ไม่สามารถชะลอการเสื่อมถอยและการฝ่อของสมองได้ ทำให้ล่าสุดองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้รับรองให้สามารถใช้ยาเลแคเนแมป(lecanemab) สำหรับการรักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ระยะต้นได้เดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา และมีการผลิตยาใหม่ ๆ อีกมากมาย ที่อาจมีประสิทธิภาพสูงขึ้นแต่มีราคาแพงมาก และยังต้องมีการประเมินผลดีของยาระยะยาว ผลข้างเคียงที่ต้องเฝ้าระวัง อาจติดตามข้อมูลหลังการใช้จริงในต่างประเทศอีกระยะหนึ่ง จึงสามารถนำมาใช้ในวงกว้างได้ทั่วโลก
สำหรับผู้ที่สงสัยว่ามีญาติหรือผู้ใกล้ชิดมีความเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ สามารถไปรับการตรวจเบื้องต้นที่คลินิกผู้สูงอายุสถานพยาบาลใกล้บ้าน กรณีที่ตัวโรคมีความซับซ้อนจะมีการส่งตัวผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลในระดับที่สูงกว่าตามความเหมาะสม ทั้งนี้ สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ สามารถให้บริการส่งตรวจระดับโปรตีนของโรคอัลไซเมอร์ในน้ำไขสันหลังได้ หากผู้ป่วยรายใดมีข้อบ่งชี้ที่ต้องเข้ารับการตรวจ สามารถเข้ารับการประเมินเบื้องต้นได้ที่สถาบันประสาทวิทยา
แม้ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาด แต่การมาพบแพทย์ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นจะช่วยยืดระยะเวลาการดำเนินโรค เพิ่มคุณภาพชีวิตของทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแล และป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้