ฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน คือ ฮอร์โมนสำคัญที่ทำให้ร่างกายแสดงความเป็นผู้หญิง เมื่อร่างกายขาดฮอร์โมนเพศหญิงไปก่อนวัยอันควร หรืออยู่ในวัยหมดประจำเดือนซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รังไข่ผลิตฮอร์โมนเพศในระดับต่ำลงตามอายุ อาจทำให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและมีโรคแทรกซ้อนเพิ่มขึ้น
วัยหมดประจำเดือน เป็นช่วงเวลาที่รังไข่ผลิตฮอร์โมนเพศในระดับต่ำลงตามอายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สนับสนุนการพัฒนาของเต้านมและมดลูก ควบคุมการตกไข่ และมีผลต่อสภาพร่างกาย ส่วนฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เป็นฮอร์โมนควบคุมรอบประจำเดือน และเตรียมมดลูกให้เหมาะสมต่อการฟักตัวของไข่หากได้รับการปฏิสนธิ ผู้ที่ขาดฮอร์โมนเพศหญิงอาจมีอาการผิดปกติต่าง ๆ แต่ไม่ได้พบในทุกราย และความรุนแรงของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน ตัวอย่างอาการผิดปกติที่ว่า เช่น ร้อนวูบวาบ เหงื่อออก หนาวสั่น ปวดข้อ ปวดหลัง ช่องคลอดแห้ง ในระยะยาวเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน โรคสมองเสื่อม หงุดหงิดง่าย กระวนกระวายใจ บางรายซึมเศร้า นอนหลับยาก
การให้ฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy: HRT) คือ การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนชนิดสกัดจากธรรมชาติ (Bio-identical Hormone) ที่มีโครงสร้างเดียวกับฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกาย การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนนั้นอาจให้ร่วมกับ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับฮอร์โมนเพศตามธรรมชาติ โดยการให้ฮอร์โมนทดแทน ใช้เฉพาะผู้ที่มีอาการขาดฮอร์โมนเพศหญิงอย่างรุนแรง และไม่มีข้อห้ามในการใช้ ฮอร์โมนทดแทนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
1. Estrogen (อย่างเดียว) : ประกอบด้วย 2 รูปแบบ คือ
1.1 ชนิดใช้ภายนอก มีทั้งรูปแบบเจลทาเฉพาะที่และแบบแผ่นแปะ โดยยารูปแบบทาเฉพาะที่ช่วยบรรเทาปัญหาเกี่ยวกับช่องคลอดแห้งและคัน เป็นต้น
1.2 ชนิดรับประทาน ช่วยบรรเทาอาการร้อนวูบวาบ อารมณ์แปรปรวน ปวดกล้ามเนื้อ และอาการที่เป็นปัญหาทางเพศ
2. Estrogen + Progestogen : มีทั้งรูปแบบทางผิวหนัง หรือรับประทาน ได้แก่
2.1 ชนิดที่ใช้เป็นรอบเดือน (Cyclic regimen)
2.2 ชนิดที่ต้องใช้ต่อเนื่อง (Continuous combined regimen)
ผลดีของการได้รับฮอร์โมนทดแทน ได้แก่ ลดการซึมเศร้า เหนื่อยง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ ทำให้ผิวหนังเต่งตึงและชุ่มชื้น ลดอาการผิวหนังอักเสบ ผมจะหนาและดกดำขึ้น ช่วยเพิ่มระดับของความจำ มีสมาธิมากขึ้น ช่วยเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก เมื่อได้รับร่วมกับแคลเซียมและมีการออกกำลังกายที่เหมาะสมร่วมกัน ทั้งนี้ ผลของการได้ฮอร์โมนทดแทนจะแตกต่างกันไปในแต่ละคนซึ่งมีปัจจัยทางด้านสุขภาพที่แตกต่างกัน
อย่างไรก็ตาม ฮอร์โมนทดแทนก่อให้เกิดผลข้างเคียงกับผู้ใช้ยาบางราย เช่น คลื่นไส้ คัดตึงเต้านม น้ำหนักตัวเพิ่ม ปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดท้อง ปวดศีรษะไมเกรน ระคายเคืองผิวหนังบริเวณที่แปะ มีความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกในช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ ภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน ภาวะหลอดเลือดสมองอุดตัน ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม เป็นต้น
ฮอร์โมนทดแทน มีทั้งประโยชน์และอาจเกิดโทษหากใช้อย่างไม่เหมาะสม ไม่ควรหาซื้อฮอร์โมนทดแทนมารับประทานเอง และผู้หญิงที่มีอาการไม่รุนแรงไม่จำเป็นต้องใช้ ดังนั้น ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยก่อนใช้