สาหัสกันไม่น้อยกับการดูแลสุขภาพท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 เพราะต้องระวังตัวรอบด้าน เพื่อป้องกันโรคและสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับร่างกาย โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ คือ การกินอาหารที่มีประโยชน์ คำถามที่ตามมาคือ กินเมื่อไร? กินอย่างไร? กินแล้วดีอย่างไร?
กินเมื่อไร? :
ควรกินอาหารวันละ 3 มื้อ ได้แก่ มื้อเช้า มื้อกลางวัน มื้อเย็น
1. มื้อเช้า : มื้อหนัก เรากินอาหารเช้า เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานและสารอาหารที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตหลังจากอดอาหารมาตลอดทั้งคืน สำหรับเด็กจะช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโต สมองทำงานได้ดี ส่งผลให้มีประสิทธิภาพในการเรียนและการทำกิจกรรมต่าง ๆ สำหรับผู้ใหญ่จะช่วยให้ทำงานได้อย่างมีสมาธิควบคุมอารมณ์ได้
2. มื้อกลางวัน : มื้อกลาง เป็นมื้อที่เติมพลังงานหลังจากมื้อเช้า เพื่อให้ร่างกายสามารถทำกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวัน ควรกินในปริมาณที่เหมาะสมกับกิจกรรมที่ทำ แต่ไม่ควรเป็นมื้อหนักมากเกินไป เพราะช่วงเย็นร่างกายจะเริ่มใช้พลังงานน้อยลง
3. มื้อเย็น : มื้อเบา ควรกินก่อนเวลานอน 3 ชั่วโมง เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ย่อยง่าย ระบบย่อยอาหารจะได้ไม่ทำงานหนักก่อนนอน ช่วยให้ร่างกายพักผ่อนได้อย่างเต็มที่
กินอย่างไร?
1. กินอาหารครบ 5 หมู่ แต่ละมื้อมีสารอาหาร คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่ ครบถ้วน
2. ปริมาณและสัดส่วนในการกินที่ช่วยลดพุง ลดโรค 2 : 1 : 1 คือ รหัสอาหารสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง เป็นการแบ่งอาหารตามสัดส่วนของจาน (เส้นผ่านศูนย์กลาง 9 นิ้ว) ออกเป็น 4 ส่วน ผัก 2 ส่วน ข้าว 1 ส่วน เนื้อสัตว์ 1 ส่วน
3. กินผักผลไม้ที่หลากหลายและเลือกกินตามฤดูกาล ร่างกายได้รับวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด การกินผักผลไม้ชนิดเดียวซ้ำ ๆ อาจส่งผลให้ร่างกายได้สารอาหารไม่ครบถ้วน นอกจากนี้ผักผลไม้มีฤดูในการเติบโต การกินซ้ำๆ เสี่ยงต่อการได้ผักผลไม้นอกฤดูกาล ซึ่งมักใช้สารเคมีในการปลูก
4. ลดหวาน ลดมัน ลดเค็ม สูตร 6 : 6 : 1 คือ ปริมาณสำหรับการบริโภค น้ำตาล น้ำมัน และเกลือ ที่เหมาะสมต่อวัน โดยน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา, น้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชา, เกลือไม่เกิน 1 ช้อนชา
การกินอาหารมีประโยชน์ ดีอย่างไร?
การกินอาหารครบ 5 หมู่ ทำให้ร่างกายได้รับพลังงาน มีการเจริญเติบโตและสามารถซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ช่วยให้ระบบการทำงานของร่างกายและสมองเป็นปกติ รวมถึงเสริมสร้างภูมิต้านทานให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ส่วนการกินอาหารในสัดส่วนและปริมาณที่เหมาะสมกับอายุและกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน รวมถึงการลดหวาน ลดมัน ลดเค็ม จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันอุดตันในเส้นเลือด เบาหวานและโรคหัวใจ
การกินผักผลไม้หลายชนิดทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารหลากหลาย ครบถ้วนต่อความต้องการของร่างกาย เสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง และผักผลไม้ตามฤดูกาล จะมีราคาถูกและปลอดภัยกว่าผักผลไม้นอกฤดู