การเลือกกินอาหาร นับว่ามีความสำคัญอย่างมากสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากการกินอาหารสำหรับคนเป็นเบาหวานมีจุดประสงค์เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ระดับความดันโลหิต และระดับคอเลสเตอรอลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ รวมถึงป้องกันความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานด้วย
อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานต้องประกอบไปด้วยสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และส่งผลดีต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผัก ผลไม้ รวมถึงอาหารที่มีแคลอรี่และไขมันต่ำ ส่วนผู้ที่ไม่ได้ป่วยด้วยโรคเบาหวาน แต่อยู่ในภาวะเสี่ยง หรือต้องการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันเบาหวาน ก็สามารถกินอาหารกลุ่มนี้ได้เช่นกัน เนื่องจากดีต่อสุขภาพ
ผู้ป่วยเบาหวานจึงต้องควบคุมอาหารเพื่อช่วยในการลดระดับน้ำตาลในเลือด ดังนี้
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่และหลากหลาย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวาน เค็ม มัน
- อาหารในกลุ่มพืชผัก ควรกินผักทุกวัน เพื่อช่วยในการดูดซึมน้ำตาล และรักษาระดับไขมันในเลือด เช่น ผักบุ้ง คะน้า ผักกาด แตงกวา กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำมะระ ผักตระกลูถั่ว มะเขือเทศ มะเขือยาว ปริมาณที่เหมาะสมคือ 4-6 ทัพพี/วัน
- อาหารในกลุ่มข้าว แป้ง และธัญพืช ควรกินข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ธัญพืชไม่ขัดสี ขนมปังโฮลวีท ปริมาณที่เหมาะสมคือ 8-9 ทัพพี/วัน
- อาหารในกลุ่มเนื้อสัตว์ ควรกินเนื้อสัตว์ที่ไม่มันไม่ติดหนัง เช่น ปลา ไก่ ไข่ โดยเฉพาะไข่ขาว ปริมาณที่เหมาะสมคือ 12 ช้อนกินข้าว/วัน
- อาหารในกลุ่มผลไม้ ควรกินผลไม้ 1 ชนิดต่อมื้อ เน้นผลไม้สดที่รสหวานน้อย เช่น กล้วย ส้ม ฝรั่ง แอปเปิล ส้มเขียวหวาน ส้มโอ ชมพู่ ปริมาณที่เหมาะสม 3-4 ส่วน/วัน (1 ส่วนผลไม้ เท่ากับ 6-8 ชิ้นคำ)
- อาหารในกลุ่มไขมัน ควรใช้น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด ในการประกอบอาหาร หลีกเลี่ยงน้ำมันหมู น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว กะทิ ครีมเทียม ปริมาณที่เหมาะสมคือ 6-7 ช้อนชา/วัน
- อาหารในกลุ่มนม ควรดื่มนมจืด นมพร่องมันเนย นมขาดมันเนย นมถั่วเหลือง เน้นรสจืดหรือสูตรไม่มีน้ำตาล ปริมาณที่เหมาะสมคือ 1 แก้ว/วัน
- หลีกเลี่ยงการเติมน้ำตาล เกลือ และเครื่อง ปรุงรสมากเกินความจำเป็น (อาจใช้น้ำตาลเทียมให้ความหวานแทน)
- หลีกเลี่ยงขนมหวานทุกชนิด อาหารทอด อาหารมัน น้ำหวาน น้ำอัดลม น้ำผลไม้ผสมน้ำตาล เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มแอลกฮอล์ นมรสหวาน นมเปรี้ยว นมปรุงแต่งรสต่าง ๆ ผลไม้รสหวานจัด ผลไม้เชื่อม กวน ดอง แช่อิ่ม ตากแห้ง อบน้ำผึ้ง ผลไม้กระป๋อง อาหารหมักดอง อาหารตากแห้ง อาหารรสเค็มจัด
ทั้งนี้ ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป หรือมีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงหรือไขมันในเลือดสูง และผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย นับเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน จึงต้องคุมอาหารและหมั่นดูแลรักษาน้ำหนักตัวเอง รวมถึงเข้ารับการตรวจสุขภาพทุกปีเพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ถือเป็นการเฝ้าระวังอีกทางหนึ่ง เนื่องจากโรคเบาหวานไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่สามารถยับยั้งการเกิดโรคแทรกซ้อนได้
นอกจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และควบคุมน้ำตาลแล้ว ผู้ป่วยเบาหวานควรออกกำลังกายเป็นประจำ รวมถึงใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด