ผู้ป่วยมะเร็งกับการกินอาหารประเภทโปรตีน

0

อาหารการกิน จัดเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อร่างกายของผู้ป่วย เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ในส่วนของผู้ป่วยโรคมะเร็งนั้น มักมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องอาหารการกินในขณะที่เข้ารับการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะคิดว่าต้องห้ามรับประทานเนื้อสัตว์ประเภทต่างๆ แท้จริงแล้วเป็นเช่นไร เรามีคำตอบ

โรคมะเร็งเป็นโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาสำคัญทางการแพทย์มาเป็นเวลานาน ในขณะที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งไม่ว่าจะด้วยวิธีการให้เคมีบำบัดหรือการฉายรังสี ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีความเข้าใจว่าต้องห้ามรับประทานเนื้อสัตว์ประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ อาหารทะเล หรือต้องรับประทานน้อยๆ ทำให้ได้สารอาหารไม่ครบถ้วน จะส่งผลต่อเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือด ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะทำให้คนไข้ที่เข้ารับการรักษาไม่ผ่านเกณฑ์เนื่องจากค่าเลือด ไม่ผ่านตามเกณฑ์มาตรฐาน ส่งผลทำให้กระบวนการรักษาไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่แพทย์ได้วางแผนเอาไว้ 

สำหรับผู้ป่วยมะเร็งควรได้รับอาหารที่มีโปรตีนสูง และควรเป็นชนิดโปรตีนที่มีคุณภาพดีจากธรรมชาติ เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่อาหารทะเล ซึ่งความต้องการในสารอาหารโปรตีนนั้นผู้ป่วยจะต้องได้รับ 1.2 – 1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมในหนึ่งวัน ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยน้ำหนัก 50 กิโลกรัม สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ พลังงานที่ควรได้รับต่อวัน (เอาน้ำหนักตัว x 1.2 = ปริมาณโปรตีนที่ควรได้รับ) นอกจากเนื้อสัตว์จะเป็นแหล่งของโปรตีนที่ดียังมีโปรตีนจากแหล่งอื่นที่หลากหลาย เช่น นม ไข่ขาว ธัญพืชต่างๆ อาหารทางการแพทย์ ซึ่งจะช่วยในการซ่อมแซมร่างกายระหว่างการรักษาโรคมะเร็ง

ผู้ป่วยมะเร็งแต่ละรายมีความต้องการที่แตกต่างกัน ดังนั้น ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือนักโภชนาการ สารอาหารประเภทโปรตีนต่างๆ ผู้ป่วยสามารถเลือกรับประทานได้หลากหลายชนิดเพื่อได้รับโปรตีนที่ครบถ้วนในแต่ละวัน สำหรับข้อแนะนำการบริโภคโปรตีนสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง มีดังนี้

1. กรณีผู้ป่วยโรคมะเร็งมีน้ำหนักตัวลดลงมาก สูญเสียกล้ามเนื้อ และมีภาวะทุพโภชนาการ มีภาวะโลหิตจางและขาดธาตุเหล็ก แนะนำให้กินอาหารที่มีโปรตีนและธาตุเหล็กสูง เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน มื้อละ 2-3 ช้อนโต๊ะ และกินโปรตีนจากแหล่งอื่นร่วมด้วย เช่น ไข่แดง ปลา นมวัว ถั่วเหลือง ถ้าไม่พอให้เสริมด้วยอาหารทางการแพทย์

2. อาหารที่มีโปรตีนที่แนะนำ คือ เนื้อปลา อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง กินไข่ทั้งฟอง วันละ 1-2 ฟอง รวมทั้งสัตว์ปีก อาหารทะเล ถั่วเหลือง เต้าหู้ สามารถเลือกกินได้และกินให้หลากหลาย

3. เนื้อสัตว์ทุกชนิด ควรใช้การ ต้ม นึ่ง ยำ หรือทอด ที่ไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ ไม่แนะนำให้ใช้การปิ้งหรือย่าง

4. ควรปรุงอาหารโดยใช้ผักหรือกินผักร่วมด้วยในมื้ออาหาร เพื่อให้ได้รับสารพฤกษเคมีที่ช่วยลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็ง

นอกจากใส่ใจเรื่องการรับประทานอาหารประเภทโปรตีนให้เพียงพอแล้ว ผู้ป่วยมะเร็งควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ตามหลักโภชนาการโดยเน้นอาหารปรุงสุก สดใหม่และสะอาด อาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผักและผลไม้ต่างๆ ข้าวไม่ขัดสีเป็นต้น เนื่องจากจะช่วยให้ระบบขับถ่ายในร่างกายของผู้ป่วยทำงานได้ดี ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงอาหารประเภทที่ให้พลังงานสูงแต่ไม่มีคุณค่าทางสารอาหาร เช่น ขนมขบเคี้ยวต่างๆ น้ำอัดลม อาหารที่ไม่สะอาด อาหารแปรรูป อาหารดิบ หรือปรุงแบบกึ่งสุกกึ่งดิบ อาหารหมักดอง รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มคาเฟอีน รวมถึงเพิ่มการออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ ทำใจให้สบายห่างไกลความเครียด เพื่อพร้อมรับการรักษาโรคมะเร็งต่อไป 
ย้ำอีกครั้ง ผู้ป่วยมะเร็งควรได้รับอาหารที่มีโปรตีนสูงมากกว่าคนทั่วไปและควรเป็นชนิดโปรตีนที่มีคุณภาพดีจากธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้มีส่วนช่วยในการซ่อมแซมร่างกายระหว่างการรักษาโรคมะเร็ง เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *