ไอโอดีน คือ แร่ธาตุที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติ พบมากในดินที่ราบลุ่มปากแม่น้ำและในทะเล ซึ่งพบมากในสัตว์ทะเลและพืชทะเล เช่น ปลา กุ้ง หอย ปู และสาหร่ายทะเลไอโอดีนช่วยสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมการเผาผลาญอาหารในร่างกาย ที่สำคัญ ช่วยควบคุมการเจริญเติบโตของสมองและอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย
ประโยชน์ของไอโอดีน
1. พัฒนาสมอง ควบคุมระบบประสาท ทำให้อ่านเขียนไวขึ้น
2. ควบคุมน้ำหนักตัว เผาผลาญไขมันส่วนเกิน
3. ส่งเสริมการเจริญเติบโตของร่างกาย
4. ทำให้ร่างกายมีพลัง เพิ่มความกระตือรือร้น
5. บำรุงเส้นผม เล็บ ผิวพรรณ และฟันให้แข็งแรง
6. กระตุ้นการทำงานของหัวใจให้ดีขึ้น
7. กระตุ้นให้มีการหลั่งน้ำนมของมารดามากขึ้น
8. ป้องกันไม่ให้เด็กพิการ หญิงแท้งบุตรง่าย และภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย
9. ช่วยการขับถ่ายปัสสาวะ ควบคุมการกระจายตัวของน้ำในร่างกาย
ร่างกายต้องการไอโอดีนทุกวัน แม้ต้องการปริมาณน้อย แต่ก็ขาดไม่ได้ กล่าวคือ ร่างกายต้องการไอโอดีนปริมาณน้อย แต่จำเป็นต้องได้รับอย่างสม่ำเสมอทุกวัน หากได้รับไม่เพียงพอจะทำให้เป็น โรคขาดสารไอโอดีน มีผลทำให้เกิดโรคคอพอก รวมถึงส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาการของร่างกาย
จะเกิดอะไร? หากเราได้รับไอโอดีนไม่เพียงพอ
– เด็กที่ขาดไอโอดีน อาจเสี่ยงต่อการเกิดอาการต่างๆ เช่น เป็นโรคเอ๋อ สมองพิการแต่กำเนิด เชื่องช้า
– ผู้ใหญ่ที่ขาดไอโอดีน อาจเสี่ยงต่อการเกิดอาการต่างๆ เช่น เกียจคร้าน ขาดความกระตือรือร้น อ่อนเพลีย เฉื่อยชา ง่วงซึม ประจำเดือนผิดปกติ มีบุตรยาก
– หญิงตั้งครรภ์ที่ขาดไอโอดีน อาจเสี่ยงต่อการเกิดอาการต่างๆ เช่น ทารกตายตั้งแต่อยู่ในท้อง ทารกพิการแต่กำเนิด หรือปัญญาอ่อน ร่างกายเด็กแคระแกรน
แต่ละวัย ควรได้รับไอโอดีนเท่าไหร่?
1. ทารกแรกเกิดจนถึงก่อนอายุครบ 6 เดือนได้รับสารไอโอดีนจากน้ำนมแม่
2. ทารกอายุ 6-11 เดือนควรได้รับสารไอโอดีนวันละ 70 ไมโครกรัม
3. เด็กอายุ 1-8 ปี ควรได้รับสารไอโอดีนวันละ 90 ไมโครกรัม
4. เด็กวัยรุ่นอายุ 9-12 ปี ควรได้รับสารไอโอดีนวันละ 120 ไมโครกรัม
5. เด็กวัยรุ่นอายุ 13-18 ปี ควรได้รับสารไอโอดีนวันละ 130 ไมโครกรัม
6. ผู้ใหญ่ ควรได้รับสารไอโอดีนวันละ 150 ไมโครกรัม
7. หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ควรได้รับสารไอโอดีนวันละ 200 ไมโครกรัม
อย่างไรก็ตาม การได้รับไอโอดีนในปริมาณสูง อาจทำให้เกิดอาการเดียวกับการขาดไอโอดีน เช่น โรคคอพอก หรือภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ รวมถึงอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจสูง นอนไม่พอ อ่อนเพลีย เหงื่อออกง่าย นอกจากนี้ การได้รับไอโอดีนในปริมาณสูงเรื้อรังอาจทำให้เกิดต่อมไทรอยด์อักเสบและเป็นโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้
ดังนั้น ในทุกวันควรกินอาหารที่มีไอโอดีนตามปริมาณที่ร่างกายต้องการ เพื่อป้องกันโรคที่จะตามมา แต่ไม่ควรได้รับเกินวันละ 500 ไมโครกรัม ควบคู่ไปกับรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและเพียงพอต่อร่างกาย