ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 การออกนอกบ้านดูจะเป็นเรื่องที่หลายคนพยายามหลีกเลี่ยง นำไปสู่การซื้อข้าวของเครื่องใช้ไปจนถึงอาหารในปริมาณมากกว่าปกติเพื่อให้ใช้ชีวิตอยู่บ้านโดยไม่ต้องออกไปช้อปให้เสี่ยงติดเชื้อ ปัญหาคือ ของสดต่าง ๆ มักเสียเร็ว ไม่อยากสุขภาพพังเพราะหม่ำอาหารปนเปื้อนเชื้อโรค ก็ต้องรู้จักเก็บอาหารให้ถูกวิธี
- ภาชนะบรรจุ และสถานที่เก็บอาหารต้องสะอาด ปลอดภัย ไม่ทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารได้ โดยควรแยกประเภทอาหารเป็นสัดส่วนเฉพาะไม่ปะปนกัน รวมถึงจัดเก็บอาหารในอุณหภูมิที่เหมาะสมกับอาหารแต่ละประเภท เพื่อรักษาคุณภาพและยืดอายุอาหารให้เก็บไว้ได้นาน ๆ ที่สำคัญควรหมั่นสำรวจวันหมดอายุของอาหารที่เก็บไว้ในตู้เย็น และไม่ควรเก็บอาหารไว้มากเกินไป จนทำให้การถ่ายเทอากาศ ในตู้เย็นเป็นไปอย่างลำบาก
- อาหารสดประเภทเนื้อสัตว์ หากจะเก็บควรล้างให้สะอาดก่อนแล้วนำมาตัดแบ่งหรือหั่นเป็นชิ้นก่อนบรรจุในภาชนะที่ป้องกันการรั่วซึมได้ในปริมาณที่พอเหมาะกับการนำไปใช้ในแต่ละครั้ง แล้วจึงนำไปเก็บในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส แยกเป็นสัดส่วนจากอาหารประเภทอื่น ไม่ควรแช่เนื้อสัตว์ชิ้นใหญ่ๆ หรือทั้งตัวในตู้เย็น เนื่องจากความเย็นอาจจะไม่เพียงพอ ถ้าเป็นชิ้นเล็ก ขนาดเล็ก หรือชนิดบด ควรใส่ถุงพลาสติกแช่อยู่ในช่องแช่แข็ง ส่วนกุ้งและปลาหมึก หากซื้อมาแล้วให้ล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อย ก่อนจะนำไปใส่กล่องที่มีฝาปิดสนิท แล้วนำไปแช่ช่องแข็งที่เป็นจุดที่เย็นที่สุด
- ไข่ไก่หรือไข่เป็ด ปกติแล้วจะสามารถอยู่ด้านนอกตู้เย็นได้ 2-3 วัน หากต้องการเก็บไข่ให้อยู่ได้นานขึ้นควรเก็บในตู้เย็นโดยนำด้านแหลมอยู่ข้างล่าง จะทำให้ไข่แดงอยู่ตรงกลางฟอง และช่วยป้องกันการระเหยของน้ำออกจากไข่ สำหรับไข่มีรอยแตกร้าว ควรแยกออกมาแล้วนำไข่มาตอกใส่ภาชนะที่มีฝาปิดสนิทก่อนนำไปแช่ในตู้เย็น แล้วรีบนำไปปรุงอาหารก่อน
- การเก็บผักสดให้อยู่ได้นานนั้นขึ้นอยู่กับประเภทของผักด้วย แต่โดยทั่วไปควรล้างแล้วผึ่งให้แห้งก่อนจะเด็ดใบเน่าออก แล้วห่อกระดาษ ก่อนจะนำไปใส่ในถุงพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง และนำเข้าตู้เย็น ซึ่งผักจะสดอยู่ได้ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ส่วนมะเขือเทศ หอมหัวใหญ่ หอมแดง และกระเทียม ไม่ควรนำมาแช่ตู้เย็น ควรเก็บไว้ในถุงกระดาษ ตะกร้า หรือกล่องพลาสติก เก็บไว้ในอุณภูมิห้อง เพราะการแช่ตู้เย็นจะทำให้เกิดขึ้นราได้ง่าย
- การเก็บผลไม้ควรเก็บในถุงซิปล็อค และเจาะรูระบายอากาศ เพื่อไม่ให้ผลไม้ชื้น ส่วนผลไม้ที่แพ็คมาในกล่องพลาสติกเจาะรูมาแล้ว ก็แช่ลงไปทั้งกล่อง แต่อย่าวางติดกับผักมากนักเพราะผลไม้จะปล่อยก๊าซเอธิลีน จะทำให้ผักเน่าเสียเร็วขึ้น
- ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนยและครีมต้องปิดไว้เสมอ เพราะมักดูดกลิ่นรสของอาหารอื่น ๆ ในตู้เย็น ส่วนชีสให้ห่อด้วยกระดาษฟอยล์หรือกระดาษขี้ผึ้งแทนการห่อด้วยพลาสติกยกเว้นพลาสติกที่ใช้ห่อนั้นใช้ได้กับอาหารไขมันสูงได้
สำหรับอาหารกระป๋องที่เปิดแล้วหากกินไม่หมด ต้องถ่ายใส่ภาชนะอื่นที่สะอาด มีฝาปิดมิดชิด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรคและควรเก็บในตู้เย็น เพื่อช่วยรักษาอาหารไม่ให้เน่าเสีย