หลังจากที่มาดามเคยได้แนะนำหนังสือเรื่อง โรคไตคู่มือป้องกันโรคไตและดูแลผุ้ป่วยโรคไต ฉบับสมบูรณ์ จัดโดยสำนักพิมพ์อมรินทร์ ซึ่งเป็นผลงานเขียนของคุณหมอผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยิ่งยศ อวิหิงสานนท์ หัวหน้าทีมปลูกไต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ อาจารย์ แพทย์หญิงปิยวรรณ กิตติสกุลนาม อาจารย์โรคไต ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จากบทความเรื่อง 6 สัญญาณอันตราย “โรคไต” รู้ก่อน เสี่ยงน้อยกว่า! ทำให้เราได้เรียนรู้ถึงสัญญาณเตือนอันตรายจากโรคไตแล้ว ต้องบอกว่าแนวทางหนึ่งในการป้องกันโรคไตเรื้อรังได้ดีที่สุดนั้นคือ เราต้องลดอาหารที่มีโซเดียมสูงหรืออาหารที่มีรสเค็ม
โดยในตอนหนึ่งของหนังสือ โรคไตคู่มือป้องกันโรคไตและดูแลผุ้ป่วยโรคไต ฉบับสมบูรณ์ ได้แนะนำอย่างน่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า…
ควรทำอาหารกินเองให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้เพราะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมปริมาณเกลือ/โซเดียมไม่ให้มากเกินความต้องการของร่างกาย
และนี่คือวิธีการฝึกกิน “โซเดียม” อย่างพอดี ลดเสี่ยงโรคไต
- พยายามเลือกอาหารรสธรรมชาติ เติมเกลือหรือน้ำปลาแต่น้อย
- หากอาหารที่กินไม่เค็มอาจทำให้จืด ดังนั้น ให้ลองเปลี่ยนเป็นรสเปรี้ยวหรือเผ็ดด้วยสมุนไพรแทน ทำให้มีกลิ่นหอมชวนกินมากกว่าเดิม
- ลดหรือเลี่ยงอาหารที่ใส่ผงชูรส เพราะถึงไม่เค็มแต่ผงชูรสมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ 15% เลยทีเดียว
- ลดหรือเลี่ยงอาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง
- ลดหรือเลี่ยงอาหารหมักดอง เช่น กะปิ ปลาร้า ไข่เค็ม เป็นต้น
- ลดหรือเลี่ยงอาหารตากแห้ง เช่น ปลาเค็ม เนื้อเค็ม หอยเค็ม เป็นต้น
- ลดความถี่ในการกินน้ำจิ้ม หรืออาหารที่ต้องใช้น้ำจิ้ม
- ไม่กินอาหารทะเลบ่อยเกินไป
- ต้องกินผักผลไม้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
- ลองเปลี่ยนนิสัยให้กินจืดลงจะช่วยได้มาก
- พยายามอย่าพกเกลือหรือน้ำปลาเป็นไอเท็มประจำตัวเมื่อไปไหน ก็จะช่วยปรับพฤติกรรมการกินได้เหมือนกัน
ลองปรับพฤติกรรมดู เพื่อสุขภาพของตัวเองด้วยนะคะ 🙂