สุขภาพดีอย่างยั่งยืนด้วยการปรับพฤติกรรม

0

การมีสุขภาพที่ดีเป็นรากฐานของการมีคุณภาพชีวิตที่ดีส่งผลให้อายุยืนยาว การดำเนินชีวิตเพื่อทำให้ร่างกายสดชื่นและแข็งแรง จิตใจแจ่มใส่เบิกบานนั้น ทุกคนสามารถสร้างและปรับพฤติกรรมที่ดีได้ด้วยตนเองจนเป็นนิสัย เป็นการสร้างเกราะป้องกันให้ร่างกายห่างไกลโรคและความเจ็บป่วย ส่งผลให้สุขภาพแข็งแรงอย่างยั่งยืน

การมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงนั้น เราสามารถสร้างได้ด้วยเคล็ดลับง่าย ๆ ผ่านการปรับพฤติกรรมด้านต่าง ๆ ดังนี้

1. ปรับพฤติกรรมการกิน เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ถูกหลักโภชนาการ สะอาดปราศจากการปนเปื้อน รับประทานอาหารให้หลากหลายครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารต่าง ๆ ครบถ้วน ไม่รับประทานเมนูเดิม ๆ จำเจอยู่เพียงอาหารไม่กี่ชนิด เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารต่าง ๆ ครบในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการ เน้นข้าวแป้งธัญพืชที่ไม่ขัดสี เพื่อเพิ่มใยอาหาร รับประทานผักและผลไม้ที่หลากหลาย เพื่อให้ร่างกายได้รับใยอาหารและวิตามิน เน้นโปรตีนที่ดี เช่น โปรตีนจากพืช ถั่วเหลือง เต้าหู้ ปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ ถั่วเมล็ดแห้ง

ควรหลีกเลี่ยงรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง และอาหารที่ใช้น้ำมันจำนวนมากในการประกอบอาหาร รวมถึงหลีกเลี่ยงรับประทานอาหารที่มีรสเค็มและรสหวานจัด เพราะเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น พยายามรับประทานอาหารที่มีรสธรรมดา  หรือปรุงรสชาติเพิ่มเติมให้น้อยที่สุด ที่สำคัญควรงดหรือลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจากเมื่อดื่มมาก จะมีผลทำให้การทำงานของระบบสมองและประสาทช้าลง ทำให้ขาดสติ (อาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย) และเสียสุขภาพ ก่อให้เกิดโรคตับแข็งและการขาดสารอาหารที่สำคัญหลายชนิด

2. ปรับพฤติกรรมทางกาย ด้วยการควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ ควบคู่กับการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ประมาณ 20 – 30 นาที/ ครั้ง (สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง) สำหรับผู้ที่ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ควรจัดท่านั่งให้เหมาะสม และลุกเปลี่ยนท่าทางอย่างน้อย 5-10 นาที เพื่อป้องกันอาการปวดตามร่างกาย และควรพักสายตาทุก ๆ 1-2 ชั่วโมง เพื่อสุขภาพตาที่ดี นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและนอนให้เป็นเวลา เพื่อให้ร่างกายจะได้ซ่อมแซมฟื้นฟูได้อย่างเต็มที่ หากนอนดึกเกินไป ร่างกายอาจเหนื่อยล้าได้ และเสี่ยงต่อโรคภัยต่าง ๆ นอกจากนี้ควรงดการสูบบุหรี่ เนื่องจากสารเคมีในบุหรี่ทำให้เกิดโรคและอันตรายต่าง ๆ ทั้งกับผู้สูบบุหรี่และคนรอบข้างที่ต้องสูดดมควันบุหรี่

3. ปรับพฤติกรรมทางใจ หลีกเลี่ยงความเครียดหรือวิตกกังวล ทำจิตใจให้ผ่อนคลายเพราะการมีสุขภาพจิตที่ดีอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นสิ่งที่จะส่งเสริมให้สุขภาพร่างกายของเราดีขึ้น ทั้งนี้ เราสามารถเสริมสร้างจิตใจให้แข็งแรง โดยการฝึกทักษะการผ่อนคลาย ดูแลจิตใจเพื่อรับมือกับความเครียดอย่างสม่ำเสมอ หยุดคิดเรื่องเครียดต่าง ๆ หากิจกรรมสร้างสรรค์หรือกิจกรรมที่ชอบทำ เช่น ฟังเพลง ดูหนัง ออกกำลังกาย เล่นกีฬา ท่องเที่ยว นั่งสมาธิ หรือทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว เพื่อน หรือคนรัก สิ่งสำคัญคือ ต้องสนุกกับกิจกรรมที่ทำ การฝืนใจทำส่งผลให้สูญเสียพลังสมองอย่างมาก

นอกจากการปรับพฤติกรรมต่าง ๆ แล้ว สิ่งที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญ คือ การไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคต่าง ๆ หรือทำการรักษาแต่เนิ่น ๆ ก่อนอาการจะลุกลามรุนแรง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *