ห่างไกลโรคอ้วนลงพุง ด้วย 7 เคล็ดลับกินถูกวิธี ทำได้ไม่ยาก

0

ด้วยวิถีชีวิตที่เร่งรีบ พฤติกรรมที่เน้นการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม เพิ่มขึ้น แต่กินผัก ผลไม้ลดลง รวมทั้งการมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอของผู้คนยุคนี้ ล้วนส่งผลต่อสุขภาพและเพิ่มความเสี่ยงให้กับโรคอ้วนลงพุงมากขึ้น ทั้งนี้ เราสามารถลดความเสี่ยงโรคอ้วนลงพุงได้ ด้วย 7 เคล็ดลับกินถูกวิธี ทำได้ไม่ยาก

1. 3 มื้อ 3 เวลา

การกินอาหารวันละ 3 มื้อ เช้า กลางวัน เย็น ให้ผลลัพธ์ได้เป็นอย่างดี และถ้าจำเป็น สามารถเพิ่มอาหารว่างช่วงบ่ายได้อีก 1 มื้อ แต่ควรเลือกอาหารว่างที่ให้พลังงานต่ำ

2. ลดและงด

อาหารที่ให้พลังงานสูง อาหารรสจัดและเครื่องดื่มจำพวกน้ำอัดลม แอลกอฮอล์ น้ำหวาน น้ำผลไม้ ควรจัดอยู่ในหมวด “อาหารที่ต้องลดและงด” ไม่ใช่อาหารที่ต้องกิน เพราะการกินแบบตามใจปาก คือเส้นทางนำไปสู่ความอ้วน

3. กะจำนวนกิโลแคลอรีให้พอดี

ผู้ชาย ควรได้แคลอรีประมาณวันละ 2,000 กิโลแคลอรี ส่วนผู้หญิง ควรได้แคลอรีประมาณวันละ 1,600 กิโลแคลอรี โดยปริมาณแคลอรีที่ระบุนี้บวกรวมทั้งอาหารคาวและหวาน

4. จัดมื้ออาหารให้สมดุล

อาหาร 1 มื้อ ควรได้แคลอรีประมาณ 400-700 กิโลแคลอรี สำหรับอาหารเย็นต้องเป็นมื้อที่มีแคลอรีต่ำกว่ามื้ออื่น ๆ ส่วนอาหารว่างต้องจำกัดให้น้อยกว่า 200 กิโลแคลอรีในแต่ละครั้ง และเมื่อรวมกับอาหารมื้อหลักในแต่ละวัน ต้องไม่เกินจำนวนแคลอรีที่กำหนด

5. รู้ทันภัยจากอาหารว่าง

อาหารที่ทำให้มีพุงและไขมันปลิ้นๆ นั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากการกินอาหารครั้งละ 1-2 จาน แต่มาจากอาหารว่าง และเครื่องดื่มต่าง ๆ ที่เรากินดื่มเข้าไปอย่างไม่ทันระวังตัวต่างหาก เช่น ดื่มกาแฟสด 1 แก้วใหญ่ (ประมาณ 300 กิโลแคลอรี) กับโดนัท/ เค้ก/ มัฟฟิน อีก 1 ชิ้น (ประมาณ 200 กิโลแคลอรี) จะได้พลังงานประมาณ 500 กิโลแคลอรี หรือแม้กระทั่งเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพทั้งหลาย ชาเขียว น้ำผลไม้ โดยเฉลี่ยให้พลังงาน 0.4-0.5 แคลอรีต่อซีซี ถ้าเราดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้วันละ 500 ซีซี เราจะได้พลังงานเข้าไปถึง 200-250 กิโลแคลอรี

6. วิธีปรุงต่าง แคลอรีต่าง

วิธีการปรุงที่แนะนำ ได้แก่ ต้ม ตุ๋น นึ่ง ลวก ยำ อบ ส่วนวิธีการปรุงที่ควรระวัง ได้แก่ คั่ว ปิ้ง ย่าง เผา รวน ผัด เจียว ทอด

7. กินถูกส่วน 2 : 1 : 1

การกินอาหารให้ถูกต้อง ถูกปริมาณ และหลากหลายชนิดเป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพ หากเรามีน้ำหนักเกิน แล้วต้องการลดหรือควบคุมน้ำหนัก ก็สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยการควบคุมชนิดและปริมาณของอาหารการกิน โดยใช้แนวคิดการกำหนดปริมาณจากแบบจำลองจานอาหาร (Food plate model) โดยแบ่งส่วนจานอาหารเป็น 4 ส่วน ได้แก่ ข้าว-แป้ง ปริมาณ 1 ส่วนของจาน, เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ ถั่วเมล็ดแห้ง ปริมาณ 1 ส่วนของจาน, ผัก ผลไม้ชนิดต่าง ๆ ปริมาณ 2 ส่วนของจาน

โรคอ้วนลงพุง เป็นสาเหตุของโรคแทรกซ้อนจำพวกโรคไม่ติดต่อที่เรียกว่า NCDs ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพกายและจิต ไม่อยากเสี่ยงสุขภาพพัง รีบปรับพฤติกรรมการกินเสียแต่วันนี้ กินถูกวิธี ลดพุงลดโรค

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *