น้ำหนักตัว นับเป็นหนึ่งในเครื่องบ่งชี้อย่างง่ายถึงภาวะสุขภาพ ในผู้ใหญ่ที่กินอาหารได้เหมาะสม จะมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสม มีรูปร่างที่ไม่อ้วนหรือผอมเกินไป และมีน้ำหนักตัวค่อนข้างคงที่ การรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ ทำได้โดยการกินอาหารให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารที่เสี่ยงต่อการน้ำหนักเพิ่ม
8 อาหารควรเลี่ยง ถ้าไม่อยากเสี่ยงน้ำหนักเพิ่ม
1. เมนูทอด – ให้พลังงานสูง ไม่ควรกินบ่อย ที่สำคัญมีแคลอรี่และไขมันทรานส์ในปริมาณสูง การกินอาหารชนิดนี้เป็นประจำอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพและก่อให้เกิดโรคได้ หากกินควรกินของทอดร่วมกับอาหารที่มีใยอาหารสูง เพื่อช่วยดูดซับไขมัน
2. ผัดไท หอยทอด – ไขมันเยอะ ให้พลังงานสูง ไม่ควรกินบ่อย เลี่ยงปรุงรส เพิ่มผักเคียง ใยอาหารจากผักจะช่วยดูดซับไขมัน
3. ขนมอบ เบเกอรี – ให้พลังงานสูง มีไขมันอิ่มตัว น้ำตาล และโซเดียมสูง ควรกินเเต่น้อยและนานๆ ทีกิน ไม่กินคู่กับเครื่องดื่มรสหวาน เพราะจะทำให้เสี่ยงน้ำหนักเพิ่มและเสี่ยงโรคอ้วนยิ่งขึ้น
4. ขนมขบเคี้ยว – สารอาหารน้อย ไขมันสูง โซเดียมสูง เปลี่ยนมากินถั่วเปลือกเเข็งหรือผลไม้รสไม่หวาน ได้ประโยชน์ดีกว่า
5. หมูกระทะ ชาบู – เลือกเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน กินผักหลากหลาย จิ้มน้ำจิ้มแต่น้อย ไม่ทานบ่อยเกิน เดือนละ 1-2 ครั้ง
6. ไส้กรอก ลูกชิ้น เนื้อสัตว์แปรรูป โซเดียมสูง เสี่ยงสารปนเปื้อน เลือกซื้อจากเเหล่งที่น่าเชื่อถือและกินเเต่น้อย
7. น้ำอัดลม น้ำตาลสูง ดื่มเป็นประจำ เสี่ยงโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน ฟันผุ แนะนำให้เปลี่ยนเป็นน้ำเปล่าดีที่สุด แต่ถ้าต้องการเครื่องดื่มที่แก้กระหายรสชาติดีอาจดื่มน้ำสมุนไพร น้ำผลไม้คั้นสดแทน
8. เครื่องดื่มเเอลกอฮอล์ ควรงดหรือเลี่ยง เปลี่ยนมาดื่มน้ำเปล่าหรือเครื่องดื่มไม่หวานหรือหวานน้อยแทน
เคล็ดลับการกินเพื่อสุขภาพที่ดี ลดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
1. กินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ เน้นความหลากหลาย ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่จำเจอยู่เพียงอาหารไม่กี่ชนิด เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารต่างๆ ครบในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการ
2. กินพืชผักให้มาก และกินผลไม้เป็นประจำ โดยผักและผลไม้เป็นแหล่งสำคัญของวิตามินและแร่ธาตุซึ่งดีต่อสุขภาพ
3. กินเนื้อปลา เนื้อสัตว์ ไข่ และถั่วเป็นประจำ เนื่องจาก เป็นแหล่งโปรตีนที่ดี โปรตีนเป็นสารอาหารที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับอย่างเพียงพอ ทั้งคุณภาพและปริมาณ เพื่อนำไปเสริมสร้างร่างกายให้เจริญเติบโต และซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่สึกหรอ
4. หลีกเลี่ยงอาหารรสหวานจัด เค็มจัด ส่วนประกอบสำคัญของอาหารรสหวานจัดและเค็มจัด ได้แก่ น้ำตาล และเกลือ ซึ่งส่วนประกอบทั้ง 2 ชนิดเมื่อบริโภคมากเกินไป จะเป็นสาเหตุที่สำคัญของการเกิดโรคอ้วน และโรคความดันโลหิตสูง
5. กินอาหารที่มีไขมันแต่พอเหมาะ แม้ไขมันจะเกี่ยวข้องกับปัญหาโภชนาการ เช่น โรคอ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูง แต่ร่างกายก็ต้องการไขมันเพื่อสุขภาพด้วยเช่นกัน จึงต้องควบคุมปริมาณและชนิดของไขมันที่จะบริโภคให้เหมาะสม
6. กินอาหารที่สะอาด ปราศจากสารปนเปื้อน เพราะจะช่วยลดอันตรายจากสิ่งปนเปื้อนต่างๆ ซึ่งอาจเป็นเชื้อโรค พยาธิ สารพิษ สิ่งแปลกปลอมต่างๆ อันจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพหรือเสี่ยงโรคต่างๆ ได้
7. หลีกเลี่ยงอาหารดิบ สุกๆ ดิบๆ ควรเลือกกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ
8. ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ โดยน้ำเปล่าจะช่วยให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
9. งดเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์ เนื่องจากการดื่มแอลกอฮอล์บ่อยๆ และเป็นประจำอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพและเสี่ยงโรคต่างๆ
นอกจากการกินให้ดีแล้ว อย่าลืมออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ลด ละ เลิกพฤติกรรมเนือยนิ่ง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ คิดบวก ทำจิตใจให้แจ่มใสห่างไกลความเครียด