5 เทคนิคฟื้นฟูวัณโรคปอด ด้วยการเลือกกินอาหาร

0

แม้จะเป็นโรคระบาดที่มีมานานแต่ปัจจุบันสถานการณ์ของผู้ป่วยวัณโรคยังน่าเป็นห่วง เพราะแม้สามารถรักษาให้หายขาดได้แต่ก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงจะช่วยให้ภูมิต้านทานโรคดีขึ้นได้ โดยหนึ่งในวิธีที่ช่วยฟื้นฟูวัณโรคปอด สามารถทำได้ด้วยการเลือกกินอาหาร

 

5 เทคนิคฟื้นฟูวัณโรคปอด

 

วัณโรค หรือ TB คือโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไมโคแบคทีเรียมทูเบอร์ คูโลซิส วัณโรคสามารถเป็นได้ทุกส่วนของอวัยวะทั่วร่างกาย และบริเวณที่ติดเชื้อวัณโรคบ่อยที่สุดก็คือปอด ซึ่งสมัยก่อนเรียกว่า ฝีในท้อง แต่ก็สามารถติดเชื้อที่ส่วนอื่นของร่างกายได้เช่นกัน เช่น ในกระดูก ลำไส้ ต่อมน้ำเหลือง หรือสมอง

 

วัณโรคแพร่เชื้อโดยการไอ จาม ฝอยละอองเสมหะที่ออกมาจากปอดของผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคและผู้ที่ติดเชื้อวัณโรคก็คือผู้ที่หายใจรับเชื้อวัณโรคที่ล่องลอยในอากาศเข้าสู่ปอด อาการของผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคปอดมีหลายอาการ และสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยวัณโรคปอดมีน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว คือ ผู้ป่วยมีอาการเบื่ออาหาร

 

สาเหตุของการเบื่ออาหารก็คือ ผลจากโรคและผลข้างเคียงจากยา ต่อมรับรสผิดปกติ มีเสมหะ ไอ เหนื่อย รวมทั้งดื่มน้ำมากเกินไปทำให้อิ่มน้ำ ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะทุพโภชนาการ ร่างกายขาดสารอาหาร ส่งผลให้อาการของโรคและอาการแพ้ยารุนแรงมากขึ้น ผู้ป่วยจึงควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ตามหลักโภชนาการเพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน

 

5 เทคนิคฟื้นฟูวัณโรคปอด ด้วยการเลือกกินอาหาร มีดังนี้

 

  1. เลือกรับประทานอาหารหมู่ที่ 1 ได้แก่ เนื้อสัตว์ต่างๆ นม ไข่ เต้าหู้ เพื่อช่วยให้ร่างกายได้รับโปรตีน ในการฟื้นฟูเสริมสร้างภูมิต้านทาน
  2. เลือกรับประทานอาหารหมู่ที่ 2 ได้แก่ ข้าว แป้ง ข้าวโพด เผือก มัน ฟักทอง น้ำตาล โดยควรเลือกเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท เพราะมีวิตามินบีสูง ช่วยลดอาการชาปลายมือปลายเท้าและเพิ่มความอยากอาหาร
  3. เลือกรับประทานอาหารหมู่ที่ 3 และ 4 ได้แก่ พืชผักและผลไม้ต่างๆ โดยควรเลือกรับประทานให้หลากหลาย เพื่อให้ได้รับสารอาหารต่างๆ ตลอดจนเสริมสร้างภูมิต้านทาน ป้องกันการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ
  4. เลือกรับประทานอาหารหมู่ที่ 5 ได้แก่ น้ำมัน ไขมันจากพืชและสัตว์ ซึ่งให้พลังงานสูง สร้างความอบอุ่นแก่ร่างกาย โดยควรเลือกบริโภคน้ำมันที่มีกรดไขมันดี เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด
  5. ถ้าผู้ป่วยมีอาการไอ และมีเสมหะ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ติดมัน หนังสัตว์ ของทอด ของมัน กะทิ และน้ำเย็น น้ำมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง อาทิ น้ำมันจากสัตว์ น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว อาหารที่มีแก๊สสูง เช่น ของดอง ถั่ว น้ำอัดลม เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อาหารที่มีกลิ่นแรง และอาหารสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

 

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยวัณโรคปอดสามารถปฏิบัติตนโดยรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ และรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอจะทำให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูจากโรคและมีสุขภาพแข็งแรง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *