ความที่ต้องอยู่ในภาวะเร่งรีบ จึงทำให้กลุ่มวัยทำงานส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม อาทิ กินอาหารจานด่วนที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ รวมถึงมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ เหล่านี้ล้วนเพิ่มความเสี่ยงให้เกิด “ภาวะอ้วน” ซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกาย อยากดูแลสุขภาพให้ห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บ เริ่มได้ด้วย “การกิน”
จากข้อมูล Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุข (update วันที่ 27 เมษายน 2564) พบว่า คนไทยอายุ 18-59 ปี เป็นคนอ้วนระดับ 1 คือมีค่า BMI 25-29.9 จำนวนร้อยละ 20.31 และอ้วนระดับ 2คือมีค่า BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 30 จำนวนร้อยละ 6.22 ผู้ที่เป็นโรคอ้วนจึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและเสี่ยงเสียชีวิตเมื่อป่วยเป็นโรคโควิด-19
อย่างไรก็ตามผู้ที่เข้าข่ายภาวะอ้วนลงพุงสามารถดูแลสุขภาพตนเองได้ ด้วยการกินอาหารให้เหมาะสม และเพิ่มกิจกรรมทางกายในระหว่างวันให้มากขึ้น โดยให้ยึดหลักดังนี้
- 1. กินอาหารให้เพียงพอสำหรับตนเอง ไม่กินมากเกิน ไม่กินน้อยเกิน
- กินอาหารหวานน้อย มันน้อย เค็มน้อย โดยใน 1 วัน กินน้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชา น้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา เติมน้ำปลาหรือซีอิ๊ว ซอสปรุงรสในการปรุงอาหารรวมกัน ไม่เกินวันละ 4 ช้อนชา
- ชิมอาหารก่อนปรุง ปรุงให้น้อยที่สุด หรือไม่ปรุงเพิ่มเลยยิ่งดี
- หากทำอาหารกินเอง แนะนำให้ใช้สมุนไพรไทย เช่น พริก ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด หอม กระทียม หรือเครื่องเทศต่าง ๆ เพื่อเพิ่มรสชาติอาหารแทนการเติมน้ำปลา น้ำตาล
- กินผักต้ม ผักลวก ผักยำ ผักสด หลีกเลี่ยงอาหารทอด อาหารใส่กะทิ เช่น เนื้อสัตว์ทอด เนื้อสัตว์ติดมัน หนังไก่ แกงกะทิ สลัดน้ำข้น เป็นต้น
- กินอาหารสด แทนอาหารแปรรูป (ตัวอย่างอาหารแปรรูป เช่น ผักดอง ผักกระป๋อง ผลไม้ดอง ผลไม้ ตากแห้ง ไส้กรอก ไส้อั่วกุนเชียง หมูยอ เป็นต้น)
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มรสหวานต่าง ๆ เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม น้ำผลไม้ ชานมไข่มุก กาแฟเย็น เครื่องดื่มสำเร็จรูป เป็นต้น ควรดื่มน้ำเปล่าดีที่สุด วันละ 1.5–2 ลิตร
- หลีกเลี่ยงการกินบะหมี่ โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป หรืออาหารกล่องแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูปจากโรงงานอุตสาหกรรม เพราะมีการใส่ผงปรุงรส ผงชูรส ผงปรุงรส น้ำตาล ไขมัน เกลือโซเดียม เพื่อถนอมอาหาร
นอกจากนี้ ควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอวันละ 7–9 ชั่วโมง รวมถึงหมั่นชั่งน้ำหนักและวัดรอบเอวเป็นประจำ โดยเส้นรอบเอวต้องน้อยกว่าส่วนสูงหารสอง ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน ๆ ละ 30 นาที เพื่อลดน้ำหนักและรอบพุง และควรทำมีการเคลื่อนไหวร่างกายขณะทำงานบ้าง เช่น ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ แขน ขา คอ ประมาณ 5 นาที 2 ครั้งต่อวัน เดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์ ขี่จักรยานหรือเดินไปทำงาน เป็นต้น
ช่วงแรกในการปรับพฤติกรรมการกินย่อมยากลำบากและรู้สึกว่าไม่เจริญอาหารเหมือนการกินตามใจปาก แต่หากอดทนทำไปเรื่อย ๆ ร่างกายก็จะเคยชินและยึดติดกับรสชาติอาหารน้อยลง ที่สำคัญสุขภาพดีขึ้นแน่นอน