“ฟันคุด” ถอน… หรือไม่ถอนดี?

0

“ฟันคุด” (Wisdom Tooth)

ฟันที่ไม่สามารถขึ้นในช่องปากได้ตามปกติ อาจจะโผล่ขึ้นมาได้เพียงบางส่วน หรือฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกรทั้งซี่ เพราะเป็นฟันที่ขึ้นช้ากว่าฟันซี่อื่นๆ ทำให้ไม่มีที่ว่างขึ้นได้ พบได้บ่อยที่สุดบริเวณฟันกรามล่างซี่ที่สามหรือซี่สุดท้ายอาจโผล่ขึ้นอยู่ในลักษณะตั้งตรง เอียง หรือนอนในแนวระนาบ และมักจะอยู่ชิดกับฟันข้างเคียงเสมอ

Wisdom Tooth

โรคที่มาแน่ๆ หากปล่อยเจ้า “ฟันคุด” เอาไว้ก็คือ…

  • อาการบวมที่หน้า
  • อาการปวดบวมบริเวณเหงือก
  • การอักเสบและติดเชื้อ
  • เป็นฝีในช่องปาก
  • มีคราบหินปูนและแบคทีเรียบนฟันและซอกเหงือก
  • สามารถเกิดฟันผุได้ง่ายเนื่องจากเป็นอุปสรรคในการทำความสะอาด
  • การเกิดต่อมน้ำหรือก้อนซีสต์ในเหงือก
  • โรคเหงือกและขากรรไกร

การผ่าตัดฟันคุดมีจุดประสงค์หลายประการ ได้แก่…

  1. เพื่อป้องกันเหงือกอักเสบ เพราะจะมีเศษอาหารเข้าไปติดอยู่ใต้เหงือก ทำให้ไม่สามารถทำความสะอาดได้ เชื้อแบคทีเรียที่มาสะสมอยู่จะทำให้เหงือกอักเสบ ปวดและบวมเป็นหนอง
  2. เพื่อป้องกันฟันข้างเคียงผุ ซอกฟันระหว่างฟันคุดกับฟันกรามซี่ที่สองที่อยู่ชิดกันนั้น ทำความสะอาดได้ยาก เศษอาหารจะติดค้างอยู่ทำให้เกิดฟันผุได้ทั้งสองซี่
  3. เพื่อป้องกันการละลายตัวของกระดูก เนื่องจากแรงดันของฟันคุดที่พยายามดันขึ้นมา ทำให้กระดูกรอบรากฟัน หรือรากฟันข้างเคียงถูกทำลายไป นอกจากนี้แรงดันของฟันคุดอาจทำให้เกิดการบิดเกของฟันข้างเคียง ฟันซี่หน้า และซี่ถัดไป
  4. เพื่อป้องกันอาการปวดฟัน ปวดกระดูกขากรรไกร เนื่องจากเกิดการติดเชื้อ หรือมีแรงดันต่อโพรงประสาทฟันบริเวณปลายรากฟัน บางครั้งอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะโดยไม่ทราบสาเหตุ
  5. เพื่อป้องกันการเกิดถุงน้ำหรือเนื้องอก ฟันคุดที่ทิ้งไว้นานไปเนื้อเยื่อที่หุ้มรอบฟันคุด อาจจะขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นถุงน้ำ จนในที่สุดเกิดการทำลายฟันซี่ข้างเคียง และกระดูกรอบๆ บริเวณนั้น นอกจากนี้ถุงน้ำนั้นอาจโตขึ้นเรื่อยๆ จนอาจเกิดมะเร็งกรามช้างตามมาได้
  6. เพื่อป้องกันกระดูกขากรรไกรหัก การที่มีฟันคุดฝังอยู่จะทำให้กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นบางกว่าตำแหน่งอื่น เมื่อได้รับอุบัติเหตุหรือกระทบกระแทก กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นก็จะหักได้ง่าย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *