โรคหูดติดต่อได้อย่างไร? อันตรายมากน้อยแค่ไหน?

0

เมื่อกล่าวถึงหูด ภาพที่ผุดขึ้นมาในความคิดของหลาย ๆ คน คงหนีไม่พ้น ตุ่มแข็งที่ขึ้นบนผิวหนังตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย มีหลายขนาดและหลายลักษณะ สร้างความรำคาญใจให้กับผู้ป่วยได้ไม่น้อย เพราะทำให้ผิวดูไม่สวยงาม ส่วนจะอันตรายหรือไม่ รวมถึงติดต่อได้อย่างไรนั้น เรามีคำตอบ

“โรคหูด” เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิด Human Papillomavirus ซึ่งเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงของผิวหนัง มีหลายชนิดและหลายขนาด รูปร่างจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เป็น หูดอาจจะมีรอยโรคเดียวหรือขึ้นหลายรอยโรคก็ได้ สามารถเกิดตามเยื่อบุและตามผิวหนังของร่างกาย โดยมักจะขึ้นที่มือ เท้า ข้อศอก ข้อเข่า ใบหน้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า รวมทั้งที่อวัยวะเพศได้ โดยโรคหูดพบได้ทั่วไป โดยเฉพาะในเด็กวัยเรียน

สำหรับหูดชนิดพิเศษที่ขึ้นบริเวณเนื้อเยื่ออ่อนแถวอวัยวะเพศ รอบทวารหนัก เรียกว่า หูดหงอนไก่ เป็นตุ่มแดงนุ่มลักษณะคล้ายหงอนไก่ ติดต่อได้ง่ายทางเพศสัมพันธ์ โดยอาการของโรคหูดหงอนไก่เป็นได้ตั้งแต่ไม่มีอาการเลย ไปจนถึงมีก้อนโตมากจนอุดกั้นช่องคลอด ทวารหนัก หรือท่อปัสสาวะ มีเลือดออกจากก้อน คันมาก ตกขาวผิดปกติ แสบร้อนที่อวัยวะเพศ

สำหรับหูดที่พบได้ทั่ว ๆ ไปนั้น ส่วนใหญ่รอยโรคมักจะไม่มีอาการ นอกจากทำให้ดูไม่สวยงาม น่ารำคาญ ผู้ป่วยน้อยราย มักจะมีอาการเจ็บบริเวณตำแหน่งที่มีการกดทับ เช่น หูดที่ฝ่าเท้า ถ้าเสียดสีมาก ๆ อาจจะมีเลือดออกที่รอยโรคได้ และถ้ารอยโรคมีขนาดใหญ่จะเจ็บทำให้ไม่สามารถใส่รองเท้าได้ ประมาณสองในสามของหูดจะหายไปเองได้ในเวลา 12-24 เดือน โดยไม่ทิ้งรอยแผลไว้ และเมื่อหายแล้วก็อาจกลับมาเป็นใหม่ได้อีก หากเป็นหูดที่อวัยวะเพศควรปรึกษาแพทย์

การรักษาหูด มักจะใช้เวลานาน อาจต้องใช้หลายวิธีการรักษาร่วมกัน และบางครั้งหลังการรักษาหูดอาจจะเกิดรอยแผลบริเวณที่ทำการรักษาได้  โดยการรักษาหูดมีหลากหลายวิธี ได้แก่ 

1. การรักษาด้วยการทายา ที่มีส่วนผสมของกรดซาลิซิลิก กรดแลคติก ซึ่งเป็นที่นิยมเพราะง่ายและราคาไม่แพง ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังตามคำแนะนำวิธีการใช้ในแต่ละแบบ เพราะกรดมีฤทธิ์กัดกร่อนสูงเนื่องจากใช้ความเข้มข้นค่อนข้างสูง และการทายาเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้มาทำลายหูด เช่น ยา Imiquimod, Diphencyprone or squaric acid topical immunotherapy

2. การจี้ทำลายรอยโรคด้วยเลเซอร์หรือการจี้ไฟฟ้า หลังทำเสร็จมักมีอาการปวด และอาจมีแผลเกิดขึ้นได้ จึงต้องมีการดูแลรักษาแผลอย่างต่อเนื่อง    

3. การจี้ไอเย็น โดยใช้ไนโตรเจนเหลว ข้อดี คือ ดูแลหลังการรักษาง่าย โดยมากมักไม่เกิดมีแผลเป็น และไม่เจ็บมากนัก แต่อาจจะต้องจี้ซ้ำหลายครั้งแล้วแต่ขนาดและความหนาของรอยโรคจนกว่าจะหายขาด

4. การผ่าตัดรอยโรคออกไป คือ การผ่าตัดเอาก้อนหูดออกไป

ดังนั้น หากสงสัยว่าเป็นโรคหูด ควรมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษาที่ถูกวิธี รวมถึงควรรีบมารับการรักษาตั้งแต่เม็ดเล็ก ๆ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *