ท่ามกลางสารพัดโรคทางช่องปาก เชื่อว่า “โรคเหงือกอักเสบ” และ “โรคปริทันต์อักเสบ” ต้องจัดอยู่ในท็อปลิสต์เป็นแน่ แม้ชื่อโรคจะต่างกันแต่หลายคนมักจะสับสนและไม่รู้ความต่างของสองโรคนี้ บ้างก็เข้าใจว่าเป็นโรคเดียวกัน ไม่อยากรับข้อมูลแบบผิด ๆ เรามารู้จักทั้งสองโรคนี้ให้ถูกต้องกันเถอะ
โรคเหงือกเป็นหนึ่งในโรคช่องปากที่ไม่ควรมองข้าม โดยโรคเหงือกนั้นมีสาเหตุมาจากแบคทีเรียในคราบจุลินทรีย์ ก่อให้เกิดการอักเสบของเหงือก และเนื้อเยื่อปริทันต์รอบ ๆ ที่ช่วยพยุงฟัน ทำให้เกิดฟันโยก จนนำไปสู่การสูญเสียฟันในที่สุด สำหรับโรคเหงือกนี้ แบ่งได้เป็น 2 ประเภทตามความรุนแรง คือ โรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์อักเสบ
โรคเหงือกอักเสบ คือ โรคที่มีอาการอักเสบของเหงือก เกิดจากแบคทีเรียในคราบจุลินทรีย์ทำให้เกิดการอักเสบเฉพาะบริเวณเหงือก ทำให้เหงือกมีสีแดงคล้ำ บวมแดง แปรงฟันมีเลือดออกง่าย มีกลิ่นปาก ซึ่งหากได้รับการรักษาที่เหมาะสมเหงือกจะสามารถกลับไปสู่สภาพเดิมได้ แต่หากปล่อยไว้ไม่รักษาจะนำไปสู่การเกิดโรคปริทันต์อักเสบ
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยส่งเสริมให้โรคเหงือกอักเสบ มีความรุนแรงมากขึ้น เช่น การสูบบุหรี่ ผู้หญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนมากมาย หรือแม้แต่คนที่เป็นโรคเบาหวานแล้วควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ส่งเสริมให้ร่างกายมีความอ่อนแอลงก็จะทำให้การอักเสบของเหงือกมากขึ้น
โรคปริทันต์อักเสบ คือ โรคที่มีการอักเสบของอวัยวะที่อยู่รอบ ๆ ตัวฟัน ได้แก่ เหงือก เอ็นยึดปริทันต์ เคลือบรากฟัน และกระดูกเบ้าฟัน ถ้าไม่ได้รับการรักษาอวัยวะต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกทำลายไปอย่างช้า ๆ ทุกวัน จนต้องสูญเสียฟันไปในที่สุด โดยสาเหตุหลักของการเกิดโรคนี้คือ คราบจุลินทรีย์ที่มากับอาหารที่เรารับประทานและน้ำลาย เชื้อแบคทีเรียในคราบจุลินทรีย์เหล่านี้จะสร้างสารพิษมาย่อยเหงือกและกระดูกเบ้าฟันของเรา
นอกจากนี้ยังมีสาเหตุรองที่ทำให้โรคลุกลามมากขึ้น เช่น โรคเบาหวาน การสูบบุหรี่ การตั้งครรภ์ เป็นต้น โดยอาการเริ่มแรกของโรคปริทันต์อักเสบ ผู้ป่วยมักไม่รู้สึกเจ็บหรือปวด แต่เมื่อโรคเป็นรุนแรงมากขึ้นอาจมีเหงือกบวมเป็นหนอง ผู้ป่วยมักจะมาพบทันตแพทย์ด้วยอาการฟันโยก ฟันยื่นยาว เคี้ยวอาหารเจ็บ แต่ฟันเหล่านี้ก็มักจะไม่สามารถรักษาได้และถูกถอนไปเนื่องจากมีการทำลายของกระดูกเบ้าฟันไปมากแล้ว
เคล็ดลับเพื่อการป้องกันไม่ให้เกิด “โรคเหงือกอักเสบ” และ “โรคปริทันต์อักเสบ” มีดังนี้
- หมั่นสังเกตสภาพของช่องปากของตนเองอย่างสม่ำเสมอ
- แปรงฟันให้ทั่วถึงและถูกวิธีอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ร่วมกับการทำความสะอาดซอกฟันด้วยไหมขัดฟันหรือแปรงซอกฟันอย่างน้อยวันละครั้งเป็นประจำ
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
- ควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและขูดหินปูนทุก ๆ 6 เดือน
ไม่อยากสูญเสียฟันไปแบบถาวร อย่าลืมใส่ใจสุขภาพช่องปากของตัวเอง ด้วยการหมั่นสังเกต ดูแลอย่างถูกวิธี รวมถึงไปพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอนะคะ