“โรคยูเวียอักเสบ” (Uveitis)
หรือ “การอักเสบของยูเวีย” คือ การอักเสบในส่วนของยูเวียซึ่งเป็นชั้นที่มีเลือดมาเลี้ยงมากที่สุดของดวงตา และเป็นชั้นที่จะให้อาหารแก่ชั้นอื่นๆ ของดวงตา และอาจอักเสบร่วมกับเนื้อเยื่อใกล้เคียง รวมถึงกับจอตาที่อยู่ชิดติดกับ Choroid การอักเสบของยูเวียมีผลต่อกระจกตา ตาขาว และส่วนอื่น ๆ ของดวงตาที่มีผลต่อการทำลายการมองเห็น
“ยูเวีย” เป็นเปลือกลูกตาชั้นกลางซึ่งเนื้อเยื่อมีเซลล์ที่มีสารให้สี (Pigment) ร่วมกับมีหลอดเลือดและเลือดไหลผ่านจำนวนมากที่ทำหน้าที่ให้อาหารเลี้ยงลูกตาส่วนอื่นๆ
โดย ยูเวีย แบ่งได้เป็น 3 ส่วน ส่วนหน้าสุดคือ ม่านตา (Iris) ส่วนตรงกลางคือเนื้อเยื่อซีเลียรี่ (Ciliary body) ส่วนหลังสุดคือ เนื้อเยื่อคอรอยด์ (Choroid) เนื่องจากยูเวียเป็นส่วนที่เลือดไหลผ่านมาก การติดเชื้อ ตลอดจนสารให้ภูมิคุ้มกันต่างๆ อาจมาตามกระแสเลือดและก่อให้เกิดปฏิกิริยาหรือการอักเสบเกิดขึ้นกับยูเวียได้
การอักเสบของยูเวียมีอาการปวดตาไม่มาก อาจน้อยจนรู้สึกเพียงคล้ายหน่วงๆ หรือไม่สบายตา สู้แสงไม่ได้ อาการปวดอาจร้าวไปถึงกระบอกตา
ถ้าสังเกตให้ดีบริเวณตาขาวส่วนที่อยู่รอบๆ ตาดำ จะมีสีแดงขึ้นมาผิดปกติ อาจมีเพียงเล็กน้อยไปจนถึงสังเกตได้ชัดด้วยตาเปล่า เป็นผลจากการขยายตัวของหลอดเลือดฝอย บริเวณนั้นเนื่องจากการอักเสบโดยยูเวียอักเสบมี 3 ชนิด ได้แก่
- ม่านตาอักเสบเป็นการอักเสบที่ม่านตา จะมีอาการแพ้แสงมากตาสู้แสงไม่ได้ ปวดตา ตาแดงในส่วนรอบๆ ตาดำ น้ำตาไหล ตามัว ถ้าเป็นรุนแรงจะมีต้อหินแทรกได้ และทำให้ตาบอดในที่สุด
- ซีเลียรี่อักเสบเป็นการอักเสบที่ซีเลียรี่ ทำให้มีอาการคล้ายกับม่านตาอักเสบแต่อาการรุนแรงน้อยกว่า
- คอรอยด์อักเสบเป็นการอักเสบที่คอรอยด์ อาการเด่นชัดคือตามัว และมักมีจอตาอักเสบร่วมด้วยเสมอ
การอักเสบของยูเวียเป็นโรคของผู้ใหญ่ พบได้บ่อยขึ้นในช่วงอายุ 20-50 ปี ทั้งชายและหญิงมีโอกาสเกิดโรคได้เท่ากัน มีรายงานพบโรคยูเวียอักเสบประมาณ 12-23 รายต่อประชากร 1แสนคนโดยทั่วไปภาวะอักเสบของยูเวียมักจะเรื้อรัง มีตาพร่ามัว ตาแดง เมื่อมีอาการเหล่านี้ ควรต้องพบแพทย์ทันที เพราะภาวะยูเวียอักเสบนี้อาจทำให้ตามัวลงและทำให้ตาบอดได้ หากไม่รักษาอย่างทันท่วงที