“วัณโรค”
หรือ “โรคทีบี” (TB) เป็นโรคติดเชื้อเรื้อรังที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง โดยในรายที่เป็นหนักอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้แม้ปัจจุบันวัณโรคสามารถรักษาด้วยยาจนหายขาดได้ แต่ปัญหาคือ ผู้ป่วยบางรายหยุดยาเอง ไม่กินยาจนครบชุดเพราะเข้าใจว่าหายแล้ว แต่ที่จริงยังคงมีเชื้อวัณโรคหลงเหลืออยู่ในร่างกายนำไปสู่การเกิด “วัณโรคดื้อยา”
องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่เป็นปัญหาระดับนานาชาติ โดยในปี 2558 พบผู้ป่วยวัณโรค 10 ล้านราย และเสียชีวิตประมาณ 1.8 ล้านราย ซึ่งเป็น 1 ใน 10 สาเหตุของการเสียชีวิตของคนทั่วโลก
สำหรับประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปัญหาโรควัณโรคสูง วัณโรคในผู้ติดเชื้อเอชไอวี และวัณโรคดื้อยาหลายขนาน โดยคาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ทุกประเภท 117,000 รายต่อปี
อาการของวัณโรคจะเริ่มจากไอเรื้อรังนานเกิน 2 สัปดาห์ มีไข้ต่ำๆ เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด หากพบอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา สำหรับวัณโรคดื้อยามีด้วยกัน 2 ชนิดคือ
- Multidrug-Resistant TB (MDR) หมายถึง เชื้อวัณโรคที่ดื้อต่อยาที่ดีที่สุด(ซึ่งเป็นยาชนิดแรกที่เลือกในการรักษา)อย่างน้อยสองชนิดผู้ที่ติดเชื้อชนิดนี้จะรักษายากกว่าและต้องใช้เวลาในการรักษานานกว่า
- Extensively drug resistant TB (XDR TB) หมายถึง เชื้อวัณโรคที่ต่อยา isoniazid, rifampin และยังดื้อต่อยาที่ใช้เป็นทางเลือกที่สอง เช่น fluoroquinolone, amikacinมักจะพบในผู้ป่วยโรคเอดส์ที่ติดเชื้อวัณโรค
โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดวัณโรคดื้อยาได้แก่…
- ไม่ยอมรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ
- รับประทานยาไม่ครบทุกชนิด
- ได้รับยาน้อยเกินไป
- เคยมีประวัติรักษาวัณโรคมาก่อนหรือรักษาไม่หาย
- เกิดวัณโรคซ้ำหลังการรักษาวัณโรคแล้ว
- ไปในแหล่งที่มีวัณโรคดื้อยาหรือมีการดื้อยาสูง
- สัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา ผู้ที่ติดเชื้อโรคเอดส์ฉะนั้นผู้ป่วยวัณโรค
แม้ว่าอาการจะดีขึ้นจนใกล้เคียงปกติแล้ว ก็ต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องจนครบเพราะยังคงมีเชื้อวัณโรคหลงเหลืออยู่ในร่างกายและสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ อีกทั้งเชื้อโรคที่เหลืออยู่สามารถปรับตัวให้ทนต่อยาเดิมจนเกิดภาวะเชื้อดื้อยา ถ้าผู้ป่วยกลับมามีอาการอีกครั้ง จะทำให้เชื้อตอบสนองต่อยาเดิมลดลง และหายารักษาได้ยากขึ้น
ย้ำอีกครั้งผู้ที่เป็นวัณโรคต้องรักษาตามแพทย์สั่งโดยเคร่งครัด หากเกิดผลข้างเคียงจากยาควรปรึกษาแพทย์ไม่ควรหยุดยาด้วยตัวเองต้องปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้งเพื่อป้องกันวัณโรคดื้อยา