ระวัง! อาชีพที่ใช้นิ้วมือมากเสี่ยง “โรคนิ้วล็อก”

0

สำหรับคนวัยทำงานส่วนใหญ่ เวลากว่า 1 ใน 3 ของวัน ถูกใช้ไปกับการประกอบอาชีพ การรู้เท่าทันความเสี่ยงและสิ่งคุกคามจากการทำอาชีพของตน จึงมีความสำคัญอย่างมาก ล่าสุดกับ… “โรคนิ้วล็อค” ขอบอกว่าเป็นอีกหนึ่งโรคที่คนหลายอาชีพทีเดียวมีความเสี่ยง โดยเฉพาะอาชีพที่ต้องใช้นิ้วมือมากๆ

โรคนิ้วล็อ

เป็นโรคที่พบมากในช่วงอายุ 40-50 ปี โดยเฉพาะกับเพศหญิง ผู้ป่วยจะมีอาการเริ่มต้นเจ็บบริเวณฐานนิ้ว ขยับนิ้วมือเจ็บ การงอและการเหยียดนิ้วฝืด สะดุด จนเกิดอาการล็อก เหยียดนิ้วไม่ออกหรืองอนิ้วไม่เข้า นิ้วแข็งบวมชา นิ้วเกยกัน กามือไม่ลง นิ้วโก่งงอ หากไม่ได้รับการรักษา นิ้วข้างเคียงก็จะยึดติดแข็งจนใช้งานไม่ได้

สาเหตุเกิดจากการใช้งานของมืออย่างรุนแรง เช่น การบีบกำ หิ้วของหนักซ้ำๆ จนปลอกหุ้มเอ็นบวมหดรัด ขาดความยืดหยุ่น เป็นผลให้เส้นเอ็นเคลื่อนตัวผ่านปลอกเอ็นไม่สะดวก

hand use phone blank screen top view

กลุ่มเสี่ยงต่อโรคนิ้วล็อก คือ ผู้ที่เกร็งนิ้วบ่อยๆ เช่น แม่บ้านที่หิ้วถุงพลาสติกหนักๆ หิ้วถังน้ำซักบิดผ้า กำมือสับหมูหรือไก่ รวมทั้งผู้ที่มีอาชีพที่ใช้งานนิ้วมือมากๆ เช่น ช่างตัดเสื้อผ้า ช่างทำผม ช่างเจียระไนพลอย พนักงานธนาคาร นักกอล์ฟ นักแบดมินตัน หมอฟัน นักเขียน ครู นักบัญชี ล้วนแต่เสี่ยงทั้งหมด

การรักษาโรคนิ้วล็อค

ในระยะแรกหากผู้ป่วยมีอาการเพียงเจ็บฐานนิ้ว ควรพักการใช้งานมือที่รุนแรง แช่น้ำอุ่นรับประทานยาเพื่อลดการอักเสบ ลดบวม ลดปวด กายภาพบำบัด ด้วยการใช้เครื่องดามนิ้วมือ นวดเบาๆ ใช้ความร้อนประคบ ออกกำลังกายเหยียดนิ้ว ไปจนถึงฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ ส่วนผู้ป่วยที่เป็นในระยะรุนแรงมีอาการยึดติดที่รุนแรงหรือนิ้วติดล็อกจำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัด

โรคนิ้วล็อคสามารถป้องกันได้!

ด้วยการใช้งานของนิ้วมืออย่างถูกสุขลักษณะ ไม่หิ้วถุงหรือตะกร้าหนักๆ ควรใช้วิธีการอุ้มประคองแทน ไม่ควรบิดผ้าหรือซักผ้าด้วยมือจำนวนมากๆ ใส่ถุงมือหรือห่อหุ้มด้ามจับเวลาใช้อุปกรณ์ช่าง ไม่กำหรือบีบเครื่องมือนานๆ ใช้รถเข็นหรือใช้เครื่องทุ่นแรงแทนการหิ้วหรือยกของหนัก นอกจากนี้ ควรออกกำลังกายมือง่ายๆ ก่อนที่นิ้วจะล็อก โดยยืดกล้ามเนื้อแขน มือ นิ้วมือ

รู้แล้วใครที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็ให้ระวังกันด้วยนะคะ 🙂

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *