อิทธิพลจากพายุหลายระรอกที่พัดผ่านประเทศไทยทำให้มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่จนเกิดน้ำท่วมสะสม น้ำไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนที่พักอาศัยในหลายพื้นที่ นอกจากสร้างความลำบากในการใช้ชีวิตแล้ว สิ่งที่มากับน้ำท่วมคือ ภัยสุขภาพ ซึ่งโรคที่พบว่ามีแนวโน้มการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น คือ โรคเชื้อราที่เท้า
“โรคน้ำกัดเท้า” หรือบางคนอาจเรียกทั่วไปว่า ฮ่องกงฟุต ทางวิชาการเรียกว่า “โรคเชื้อราที่เท้า” เป็นภาวะที่เกิดจากการระคายเคืองของผิวหนังที่เท้า ซึ่งมักมาจากการแช่น้ำสกปรกเป็นเวลานาน หรือมีความชื้นที่เท้าตลอดเวลาเนื่องจากน้ำท่วมขัง เดินย่ำน้ำบ่อย ๆ ในช่วงฤดูฝน โดยเชื้อราจะเจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีอุณหภูมิอุ่นและอับชื้น หากเท้าหรือง่ามนิ้วเท้าอับชื้น เชื้อราจะเจริญเติบโตได้ดี การเดินเท้าเปล่าในบริเวณที่มีเชื้อรา เช่น ห้องอาบน้ำ รอบ ๆ สระว่ายน้ำ อาจติดเชื้อราได้
โรคเชื้อราที่เท้าเกิดจากผิวหนังโดยเฉพาะส่วนของเท้า แช่น้ำเป็นเวลานาน ๆ บ่อย ๆ ทำให้ผิวหนังอับชื้น และผิวหนังชั้นบนสุดเป็นขุยเปื่อยและยุ่ยหลุดลอกออก จนเกิดการสะสมของเนื้อเยื่อที่เปื่อยยุ่ย เกิดเชื้อราสะสมในชั้นของผิวหนัง มักจะเห็นได้บริเวณซอกนิ้วเท้าและมีอาการคัน ถ้ามีอาการอักเสบเป็นหนองด้วยแสดงว่าอาจติดเชื้อแบคทีเรียจากการแกะเกา หากผิวหนังเริ่มมีอาการบวมแดง ปวดเจ็บ หรือมีหนอง บ่งชี้ว่าเป็นอาการติดเชื้อแบคทีเรียที่รุนแรงขึ้นควรรีบไปพบแพทย์
วิธีป้องกันความเสี่ยงจากโรคเชื้อราที่เท้า
1. รักษาผิวหนังโดยเฉพาะที่มือ เท้า ให้แห้งสะอาดอยู่เสมอ โดยหลังล้างเท้าให้สะอาดและเช็ดเท้าให้แห้งเรียบร้อย อาจโรยแป้งฝุ่นที่ง่ามเท้าเพื่อให้แป้งดูดความชื้นออกจากเท้า เท้าจะแห้ง ไม่อับชื้น
2. หลีกเลี่ยงไม่ให้เท้าสัมผัสกับน้ำสกปรก โดยการใส่รองเท้าที่กันน้ำ ทุกครั้งที่ต้องเดินย่ำน้ำ หากน้ำที่ท่วมขังมีระดับที่สูงกว่าขอบรองเท้า และอาจจะใช้หนังยางรัดอีกทีเพื่อกันไม่ให้น้ำเข้า
3. หากหลีกเลี่ยงการเดินย่ำน้ำสกปรกไม่ได้ หลังจากนั้นควรรีบล้างเท้าด้วยน้ำสะอาดและสบู่ หรือแช่เท้าด้วยน้ำด่างทับทิม โดยใช้เกล็ดด่างทับทิมสัก 2-3 เกล็ด นำมาละลายน้ำจนเกิดเป็นสารละลายสีชมพูจาง ๆ จากนั้นแช่เท้าสักประมาณ 15 นาที แล้วจึงเช็ดเท้าให้แห้ง หรือใช้สารส้มถูผิวหนังบริเวณที่ต้องถูกน้ำบ่อย ๆ จะช่วยให้ผิวหนังบริเวณนั้นเปื่อยน้อยลง
4. ทาวาสลีนที่เท้า โดยทาวาสลีนไปตามซอกนิ้วต่าง ๆ ง่ามเท้า เพื่อลดโอกาสที่น้ำจะซึมผ่านผิวหนังและเกิดการอับชื้นหรือผิวหนังเปื่อยจนเกิดเป็นโรคเชื้อราที่เท้าตามมา
5. หมั่นสังเกตเท้าของเราบ่อย ๆ หากพบว่ามีบาดแผลที่เท้า ควรเลี่ยงที่จะเดินย่ำไปในน้ำสกปรก เพื่อไม่ให้แผลสัมผัสกับเชื้อโรคในน้ำ และหากพบว่าแผลมีอาการที่รุนแรงจนผิดไปจากเดิม หรืออาการผิดปกติใด ๆ ควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
การรักษาโรคเชื้อราที่เท้าจะเน้นเรื่องการกำจัดการติดเชื้อออกไป โดยการทายาฆ่าเชื้อราอย่างสม่ำเสมอ (อย่าลืมล้างมือให้สะอาดก่อนใช้ยาทา) แม้ว่าอาการผื่นคันจะดีขึ้นก็ไม่ควรหยุดยาทาทันทีแต่ควรทายาต่อเนื่องไปอย่างน้อย 4 สัปดาห์ ควรหลีกเลี่ยงยาทาฆ่าเชื้อโรคอื่น ๆ ที่มีฤทธิ์ระคายเคืองต่อผิวหนัง เช่น alcohol เพราะจะทำให้ผิวแห้งคันมากขึ้น ทั้งนี้ หากใช้ยาต้านเชื้อราที่วางขายตามร้านยาทั่วไปใช้แล้วยังไม่เห็นผลภายใน 2 สัปดาห์ควรปรึกษาแพทย์
ที่สำคัญ ควรรักษาสุขอนามัยและความสะอาดของเท้า โดยหลีกเลี่ยงการเดินย่ำไปในน้ำสกปรก พยายามให้เท้าแห้งอยู่เสมอ จะช่วยป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรคได้