“โรคบาดทะยัก” (Tetanus)
เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งชื่อ Clostridium tetani ผู้ป่วยจะมีการหดตัวและแข็งเกร็งตัวของกล้ามเนื้อเกิดขึ้นทั่วตัว เริ่มแรกกล้ามเนื้อขากรรไกรจะเกร็ง ทำให้อ้าปากไม่ได้โรคนี้จึงมีชื่อเรียกหนึ่งว่า โรคขากรรไกรแข็ง (lockjaw) ผู้ป่วยจะมีคอแข็ง หลังแข็ง ต่อไปจะมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วตัว ทำให้มีอาการชักได้คนที่เคยเป็นโรคนี้ครั้งหนึ่งแล้ว สามารถเป็นซ้ำได้อีก แม้ผู้ป่วยโรคบาดทะยักมีโอกาสเสียชีวิตได้แต่ก็ยังถือเป็นเรื่องราวดีๆ ที่โรคนี้มีวัคซีนฉีดป้องกันได้
บาดทะยักสามารถเข้าสู่ร่างกายและทำให้เกิดโรคได้หลายทาง โดยมักจะเข้าทางบาดแผล โดยส่วนใหญ่จะเป็นแผลขนาดเล็กๆแต่ลึก เช่น…
- แผลจากตะปู หรือเศษไม้ตำแผลถูกสัตว์กัด
- แผลถลอก
- แผลฉีกขาด
- แผลถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
- หรือแม้แต่แผลผ่าตัดก็พบได้
- รวมทั้งแผลจากการถอนฟัน รักษารากฟัน ก็มีโอกาสติดเชื้อนี้
- นอกจากนี้เชื้อนี้อาจจะเกิดจากการทำแท้ง ฉีดยาเสพติด
โรคบาดทะยักมักจะเกิดกับกล้ามเนื้อลายและเส้นประสาท ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่เราสั่งได้ ผู้ป่วยจะเกิดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อรอบแผล หลังจากนั้น 1-7 วันจะเกิดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย ผู้ป่วยจะมีการเกร็งของกล้ามเนื้อกรามทำให้อ้าปากไม่ได้ กลืนน้ำลายลำบาก คอและหลังมีการเกร็งทำให้นอนแอ่นหลัง มีอาการปวดกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย ทำให้กล้ามเนื้อช่วยหายใจไม่ทำงานเกิดภาวะหายใจลำบาก
และอาจจะเสียชีวิตจากภาวะหายใจวายอาการที่สำคัญได้แก่ ขากรรไกรแข็ง ผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้จะอ้าปากลำบาก นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆ อาทิ ปวดศีรษะปวดกราม ปวดกล้ามเนื้อ มีการกระตุกของกล้ามเนื้อความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว
การป้องกันโรคบาดทะยักที่ดีที่สุดคือ ให้วัคซีนป้องกัน DTP ตั้งแต่อายุ 2, 4 และ 6 เดือนและเพิ่มอีก 2 ครั้งเมื่ออายุ 1 ปีครึ่ง และอายุ 4-6 ปี หลังจากนั้นอาจให้ทุก 10 ปีและเพื่อความไม่ประมาทควรป้องกันความเสี่ยงของการเกิดโรคบาดทะยักโดยระมัดระวังไม่ให้เกิดบาดแผล และเมื่อมีบาดแผลเกิดขึ้นไม่ว่าจะเกิดตรงตำแหน่งไหนหรือจากสาเหตุอะไรก็ตาม ควรพบแพทย์