ใครรู้ตัวว่าชอบหม่ำเมนูสุกๆ ดิบๆ เข้ามาอ่านด่วนๆ เลยค่ะ เพราะรสชาติที่ถูกอกถูกใจคุณอาจนำมาซึ่งโรคร้ายที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว โดยเฉพาะการหม่ำเนื้อหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ หลู้หมูดิบ หมูกระทะปิ้งย่างไม่สุก จิ้มจุ่มที่ต้มไม่สุก เพราะเสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับ ซึ่งอาจทำให้หูหนวกหรือเสียชีวิตได้
จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 เมษายน 2560 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้หูดับ 89 ราย เสียชีวิต 6 ราย กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุด คือ อายุ 65 ปีขึ้นไป รองลงมา คือ 45 – 54 ปี และ 55 – 64 ปี ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคเหนือ รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
“โรคไข้หูดับ”
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในกระแสเลือดของหมูที่กำลังป่วย โรคนี้สามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ…
- การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ รวมทั้งเนื้อหมู เครื่องในหมู และเลือดของหมูที่เป็นโรค โดยติดต่อสู่คนทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา
- การกินหมูดิบๆ หรือสุกๆ ดิบๆ ทั้งเนื้อ เครื่องใน และเลือด ซึ่งเชื้อจะเข้าไปทำให้เยื่อหุ้มสมอง เยื่อบุหัวใจ อักเสบ และที่สำคัญคือทำให้ประสาทหูทั้ง 2 ข้างอักเสบ และเสื่อมจนหูหนวก
ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคไข้หูดับ คือ ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรคโดยตรง เช่น ผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู และผู้ที่รับประทานเนื้อหมูดิบ เป็นต้น สำหรับผู้ที่ได้รับเชื้อเข้าในร่างกาย จะป่วยหลังติดเชื้อประมาณ 3 – 5 วัน อาการที่พบ คือ ไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูดับ ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด
วิธีการป้องกันง่ายๆ แค่ 2 ข้อเท่านั้น
- กินหมูสุกเท่านั้น โดยปรุงเนื้อหมูให้สุกทั่วถึงด้วยความร้อนจนเนื้อไม่มีสีแดง และควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสดหรือห้างสรรพสินค้า ซึ่งผ่านการตรวจสอบมาตรฐานแล้วไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ
- ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรค เช่น ผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบูตยาง สวมถุงมือ สวมเสื้อที่รัดกุมขณะทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง
หากมีอาการป่วยหลังสัมผัสหมูที่ป่วยหรือหลังกินอาหารที่ปรุงมาจากเนื้อหมู เลือดดิบๆ หรือปรุงสุกๆ ดิบๆ ให้รีบพบแพทย์ทันที เพราะหากมาพบแพทย์เร็วจะช่วยลดอัตราการหูหนวกและเสียชีวิตได้