ทำความรู้จักโรคพุ่มพวง กลุ่มเสี่ยงของโรคนี้ เป็นใคร?

0

สร้างความตกใจให้แฟนละครได้ไม่น้อย หลังจากที่นักแสดงและผู้จัดสาวคนเก่ง “โดนัท มนัสนันท์”  ได้ออกมาเปิดเผยว่า ตอนนี้เธอป่วยเป็นโรคเอสแอลอี (SLE) หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ โรคพุ่มพวง มาได้ 6 เดือนแล้ว เพื่อเป็นการเกาะติดสถานการณ์และได้รับความรู้ไปพร้อมๆ กัน เรามาทำความรู้จักโรคนี้ดีกว่า..

“โรคเอสแอลอี”

หรือ “โรคลูปัส” หรือที่ชาวไทยคุ้นเคยดีกับการเรียกว่า “โรคพุ่มพวง” เป็นโรคที่ผู้ป่วยมีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน โดยมีปัจจัยแวดล้อมบางอย่างเป็นตัวกระตุ้นให้ความผิดปกติปรากฏชัดขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติจะทำร้ายเนื้อเยื่อตัวเอง ทำให้เกิดการอักเสบที่หลอดเลือด และเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของอวัยวะต่างๆ เป็นผลให้อวัยวะนั้นอักเสบและเสียหน้าที่ อวัยวะที่มีการอักเสบบ่อย เช่น ไขข้อ ผิวหนัง ไต ระบบโลหิตวิทยา หัวใจ ปอด ระบบประสาท

sle

กลุ่มเสี่ยงของโรคนี้ เป็นใคร?

จะมีแนวโน้มทางพันธุกรรมอยู่ก่อน แล้วมีปัจจัยภายนอกบางอย่างเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการของโรค ได้แก่ แสงแดด ความร้อน ยาบางชนิด เชื้อโรค ความเครียด นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบางอย่างภายในตัวผู้ป่วยเอง เช่น ฮอร์โมนเพศ (พบผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าชาย) อายุก็เป็นปัจจัยภายในอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรค (พบบ่อยในช่วงอายุ 15-40 ปี)

อาการจากที่พบบ่อยที่สุดของผู้ป่วยเอสแอลอี

อาการปวดตามข้อต่างๆ เอ็น และกล้ามเนื้อ, อาการอักเสบแดงร้อนบริเวณข้อ, มีผื่นผิวหนังอักเสบที่แก้มทั้ง 2 ข้าง และดั้งจมูกทำให้ผื่นมีรูปร่างคล้ายผีเสื้อ โดยผื่นผิวหนังอักเสบมีหลายรูปแบบ เช่น ผื่นแดงราบ ผื่นแดงนูนมีสะเก็ดลอกเป็นขุยตรงกลาง ผื่นสีดำสลับขาว, มีไข้, เหนื่อย, อ่อนเพลีย ผมร่วงมากผิดปกติ, หนังศีรษะอักเสบแดง

นอกจากนี้ยังมีอาการที่แสดงถึงการอักเสบที่อวัยวะต่างๆ เช่น อาการบวมที่หน้า ท้อง และขาแสดงถึงความผิดปกติของไต, อาการซีด เลือดออกตามไรฟัน จุดเลือดออกตามตัวแสดงถึงความผิดปกติของระบบโลหิตวิทยา, อาการชักหรือคุ้มคลั่งเพราะมีความผิดปกติทางระบบประสาท โดยผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการแสดงของโรคที่ระบบใดระบบหนึ่งเพียงระบบเดียว หรือมีพร้อมๆ กันหลายระบบก็ได้

ผู้มีอาการต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วและสงสัยว่าตัวเองจะเป็นโรคเอสแอลอี ควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อที่จะรับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้จริงหรือไม่ และถ้าเป็นจริงควรได้รับการประเมินว่าโรคเกิดกับอวัยวะใดบ้าง

ทั้งนี้อย่าเพิ่งตกใจหรือตีตนไปก่อนไข้นะคะ เพราะโรคนี้สามารถรักษาและควบคุมได้ด้วยยา ถ้าผู้ป่วยปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนะอย่างถูกต้อง โรคก็จะหายไปได้ค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *