สภาพการทำงานและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ปัจจุบันคนทั่วโลกมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง หรือการอยู่ในท่านั่ง ท่านอน ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนั่งเก้าอี้ทำงานหรือนั่งประชุม การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว และการนั่งหรือนอน ดูโทรทัศน์ และใช้สมาร์ทโฟนซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ล้วนนำไปสู่โรคร้ายได้!!
จากการสำรวจพฤติกรรมคนไทย โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า…
คนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ซึ่งไม่รวมการนอนหลับ วันละ 14 ชั่วโมง
นอกจากนี้ ผลการวิจัยจากต่างประเทศพบว่า พฤติกรรมเนือยนิ่งส่งผลร้ายต่อระบบการทำงานของร่างกายตั้งแต่การทำงานในระดับเซลล์ เช่น การหลั่งฮอร์โมนอินซูลินที่ควบคุมระดับน้ำตาลเสียไปการเผาผลาญน้ำตาล ไขมัน และพลังงานของร่างกายลดลง นำไปสู่โรคหัวใจ หลอดเลือด และสมอง
การนั่งนานๆ จะทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนออกจากขาขึ้นมาสู่หัวใจได้ ทำให้เส้นเลือดดำในขาและเท้ามีความดันโลหิตสูงตลอดเวลา นอกจากนี้จากการไหลเวียนของเลือดที่ขาลดลง ยังสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการอุดตันของเส้นเลือดได้อีกด้วยส่วนผล
การศึกษาจาก สถาบันฟื้นฟูสภาพโตรอนโต แคนาดา พบว่า แม้จะออกกำลังกายวันละ 1 ชั่วโมง แต่หากนั่งอยู่เฉยๆ ติดต่อกันนานๆ ไม่ว่าจะทำงาน ดูโทรทัศน์หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ก็ยังคงเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคมะเร็งได้อยู่ดี
วิธีปรับพฤติกรรมเนือยนิ่งให้น้อยที่สุด ทำได้หลายวิธี เช่น…
- เดินไปดื่มน้ำหรือเข้าห้องน้ำ หลังจากนั่งเก้าอี้ทำงานทุก 1 ชั่วโมง หรือการยืนทำงาน
- ลุกขึ้นมายืดเส้นยืดสายบ้างระหว่างที่นั่งนานๆ เช่น ลุกขึ้นมาหมุนแขนหมุนขา ยืดบิดตัว ขยับกล้ามเนื้อ แขน ขาระหว่างช่วงพักโฆษณาขณะชมรายการโทรทัศน์สุดโปรด
- ควรตั้งเวลาในทุกชั่วโมงเพื่อเตือนตัวเองให้ลุกจากการนั่งนานๆ ได้ออกมาเดินบ้าง
- เดินขึ้นลงบันไดแทนการใช้ลิฟต์
- เดินหรือปั่นจักรยานมาทำงาน หรือการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน แทนรถส่วนตัว และควรควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบแอโรบิกวันละ 30-60 นาที เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ควบคู่ไปกับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์