
เมื่อติดเชื้อโควิด-19 ผู้ป่วยแต่ละคนย่อมจะมีอาการแตกต่างกันไป ตั้งแต่ไม่มีอาการ มีอาการน้อย ไปจนถึงมีอาการรุนแรงถึงชีวิต เช่นเดียวกับเมื่อหายจากการติดเชื้อ แต่ละคนก็จะมีการฟื้นฟูร่างกายที่ต่างกัน บางคนหายจากการติดเชื้อแล้วก็กลับมาเป็นปกติเลย ขณะที่บางคนมีอาการอ่อนเพลียหลังติดเชื้อโควิด
อาการอ่อนเพลีย เป็นอาการที่บ่งบอกถึงการลดลงของสมรรถภาพทางร่างกาย และ/หรือจิตใจ ซึ่งเป็นผลมาจากการติดเชื้อโควิด-19 มักพบอาการเหนื่อยล้าในผู้ป่วยที่หายจากโควิด-19 ตั้งแต่ 3 เดือนนับจากวันตรวจพบเชื้อ และมีอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือน โดยปัจจัยเสี่ยงในการเกิดอาการอ่อนเพลียหลังติดเชื้อโควิด-19 มีดังนี้
– เพศหญิง
– มีประวัติโรควิตกกังวลหรือซึมเศร้า
– มีประวัติโรคปอดเรื้อรัง
– มีความรุนแรงในระยะติดเชื้อเฉียบพลันมาก
อาการอ่อนเพลีย อาจเกิดร่วมกับอาการเหล่านี้
– มีปัญหาด้านความจำและสมาธิ
– มีอาการเจ็บขณะกลืน
– ต่อมน้ำเหลืองที่คอหรือรักแร้โต กดเจ็บ
– ออกกำลังกายแล้วเหนื่อยเกิน 1 วัน
– ปวดศีรษะ
– นอนหลับไม่สนิท
– ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
– ปวดตามข้อโดยไม่มีการอักเสบ
ทั้งนี้ หากมีอาการอ่อนเพลียร่วมกับอาการข้างต้นนานกว่า 7 วัน ควรพบแพทย์ ในส่วนของคำแนะนำสำหรับอาการอ่อนเพลีย ควรเพิ่มกิจกรรมประจำวันทีละน้อยไม่ถึงจุดอ่อนเพลีย โดยมีช่วงเวลาพักสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการอ่อนเพลียหรือล้าให้หยุดพัก ไม่ควรฝืน สำหรับการเริ่มออกกำลังกายควรเริ่มระดับเบาก่อน ขณะเดียวกันให้หมั่นสังเกตระดับความเหนื่อย หรือชีพจร แล้วจึงปรับเพิ่มความหนักแบบค่อยเป็นค่อยไป
หลังจากติดเชื้อโควิด-19 ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานต่อไวรัสโควิด-19 ขึ้นมา โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก ทำให้โอกาสติดเชื้อโควิด-19 ซ้ำมีน้อยมาก แต่ภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นโดยธรรมชาตินี้ จะค่อย ๆ ลดลงตามเวลาที่ผ่านไป หากดูแลและป้องกันตัวเองได้ไม่ดีพอก็มีโอกาสติดเชื้อได้ใหม่หลังจากหายแล้ว ในระยะเวลา 3 เดือนขึ้นไป ดังนั้น ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 อย่างครบถ้วน ควรวางแผนในการรับวัคซีนให้ครบหลังจากติดเชื้อแล้ว 3 เดือน เพื่อสร้างภูมิคุ้นกันต่อโควิด-19
ผู้ที่หายจากโควิด-19 ควรหมั่นสังเกตและประเมินร่างกายตัวเองอยู่เสมอ หากพบอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจประเมินสภาพร่างกายและรับการรักษาที่เหมาะสม เพราะหากปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายได้