เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยอาการที่มักเกิดขึ้นบ่อยๆ อย่างเช่น ไข้หวัดหรือท้องเสีย หลายคนเลือกที่จะพักผ่อนให้มากๆ และรักษาตามอาการ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ซื้อยาปฏิชีวนะกินเองเพราะเข้าใจว่าจะช่วยให้หายป่วยได้เร็ว งานนี้ขอบอกว่าหากทำเป็นนิสัย คุณอาจได้ขอแถมเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาแทน!
ขอบอกว่าไม่ใช่เรื่องเล็กๆเพราะปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่ส่งผลกระทบทางสุขภาพของประชาชน และทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละกว่า 46,000 ล้านบาททีเดียว โดยข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า…
ในแต่ละปีคนไทยติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาประมาณ 88,000 คน เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาอย่างน้อยปีละ 20,000-38,000 คน และยังส่งผลให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อดื้อยาต้องอยู่ในโรงพยาบาลโดยรวมนานขึ้น 3.24 ล้านวัน หรือเฉลี่ยคนละ 24-46 วัน
สาเหตุที่ทำให้คนไทยมีผู้ป่วยเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้นมาจากพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่สมเหตุสมผล โดยพฤติกรรมที่มีส่วนทำให้เกิดเชื้อดื้อยา เช่น ซื้อยาปฏิชีวนะกินตามคนอื่น หยุดรับประทานยาปฏิชีวนะเมื่อมีอาการดีขึ้น ซื้อยาปฏิชีวนะกินเองตามที่เคยได้รับจากแพทย์ครั้งก่อนๆ ใช้ยาอมที่ผสมยาปฏิชีวนะ เป็นต้น
ปัจจุบันมีแพทย์และเภสัชกรจำนวนมากยังคงสั่งยาต้านแบคทีเรียให้กับ 3 โรคที่รักษาได้โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ได้แก่ 1.โรคหวัด ไอ เจ็บคอจากไวรัส2.ท้องร่วงและอาหารเป็นพิษ และ3.บาดแผลทั่วไป ทำให้ประชาชนมีความเชื่อที่ผิดว่าโรคเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ยาต้านแบคทีเรียหรือยาแก้อักเสบ ทั้งที่จริงแล้วการใช้ยาปฏิชีวนะหรือที่เรียกกันอย่างผิดๆว่ายาแก้อักเสบในโรคติดเชื้อไวรัส ไม่เกิดประโยชน์ มีแต่โทษ
นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์อีกหลายอย่างที่ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา เช่น ยาอมผสมยาต้านแบคทีเรียเพราะไม่ได้ผลในการรักษาและทำให้เชื้อดื้อยาต้านแบคทีเรีย ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทสบู่ ครีมอาบน้ำ ยาสีฟัน เจลล้างมือที่ผสมสารเคมีฆ่าเชื้อ ได้แก่ ไตรโคลซานและสารอื่นๆ อีก 18 ชนิด ที่มีรายงานวิจัยยืนยันแล้วว่าสารเหล่านั้นทำให้เชื้อดื้อยาต้านแบคทีเรียเมื่อใช้เป็นเวลานาน ซึ่งองค์การอาหารและยา (FDA) แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ยกเลิกการใช้แล้ว