“โรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน”
หรือ “เซ็บเดิม” เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อย และแม้จะเป็นโรคที่ไม่อันตราย อีกทั้งยังไม่ติดต่อจากการสัมผัส แต่ความที่เป็นโรคเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ จึงเป็นโรคที่มีผลทางด้านจิตใจต่อผู้ป่วย กล่าวคือ อาการของโรคทำให้ความมั่นใจของผู้ป่วยหดหาย หรือส่งผลต่อบุคลิกภาพและรูปลักษณ์นั่นเอง
โดยลักษณะของ “โรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน” (seborrheic dermatitis) จะเกิดบริเวณผิวหนังที่มีต่อมไขมันเป็นจำนวนมาก เช่น หนังศีรษะ ไรผม ข้างจมูก คิ้ว ใบหน้า หน้าอก เป็นต้น บริเวณดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นขุยสีเหลือง มันวาว ร่วมกับมีผื่นแดงส่วนใหญ่เป็นกับผู้ป่วยที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป อาการจะเป็นๆ หายๆ มักจะสัมพันธ์กับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เช่น หน้าหนาว อากาศแห้ง ผื่นจะกำเริบได้บ่อยกว่า โดยอาการผู้ป่วยบางรายจะสัมพันธ์กับโรคทางระบบประสาทบางชนิด เช่น Parkinson’s, Alzheimer disease หรือ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) จะทำให้โรคนี้เป็นรุนแรงมากขึ้น
สาเหตุของโรคนี้จะยังไม่ทราบแน่ชัด
แต่แพทย์เชื่อว่าปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเกิดโรค คือ ภาวะใดๆ ที่กระตุ้นให้ให้ต่อมไขมันทำงานผิดปกติ เช่น ฮอร์โมนการติดเชื้อราบางชนิด เช่น เชื้อ Malassezia species ยาบางอย่าง เช่น griseofulvin, cimetidine, lithium,methyldopaหรือมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม การเกิดภาวะขาดสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุ
ความที่ผื่นจะเป็นเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ การรักษาโรคจึงเน้นที่การควบคุมโรค มากกว่าที่จะรักษาให้หายขาด สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการดูแลตัวเอง เพื่อลดการเห่อหรือกำเริบของโรค หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรค เช่น ความเครียด ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ แสงแดด พักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น ควรล้างหน้าด้วยสบู่ที่ไม่ระคายเคืองต่อผิว หมั่นทาครีมบำรุง ดูแลผิวให้ชุ่มชื้น ใช้เครื่องสำอางสำหรับผิวแพ้ง่ายในส่วนของการใช้ยา ควรเป็นยาที่มาจากการแนะนำของแพทย์เท่านั้น การซื้อยามาทาเองอาจทำให้โรคกำเริบยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยาสเตียรอยด์บางชนิดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ยาทาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ถ้าใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้เป็นสิว ผิวบาง เส้นเลือดขยาย และติดสเตียรอยด์ได้
แม้ “โรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน” ไม่ใช่ติดต่อ แต่ก็ควรได้รับการตรวจวินิจฉัย และรักษาอย่างถูกต้อง ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง เพื่อการควบคุมโรคและการรักษาที่ตรงจุด