ติดหน้าจอ… เสี่ยงเป็น ‘โรคซีวีเอส’

0

NjpUs24nCQKx5e1DHNPlrZiYJLI6T4eCzJYNrpOO9fA

หนึ่งในโรคที่อาจส่งผล กระทบต่อสุขภาพ คือ “คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม” (Computer Vision Syndrome) หรือ โรคซีวีเอส คนที่ทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ มักมีอาการปวดตา แสบตา ตามัว และบ่อยครั้งที่จะปวดหัวร่วมด้วย อาการทางสายตาเหล่านี้เกิดจากการจ้องดูข้อมูลบนคอมพิวเตอร์นานเกินไป พบได้ถึงร้อยละ 75 ของคนใช้คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี บางคนอาจต้องเว้นการใช้งานเป็นวัน ขณะที่บางรายอาจต้องใช้ยาระงับอาการ

 

ต้นตอ ต้นตา

Eye_of_the_Beholder_by_RecklessConformity

สาเหตุของโรคเกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือนานๆ และไม่ค่อยกะพริบตา หากเราอ่านหนังสือหรือนั่งจ้องคอมพิวเตอร์ อัตราการกะพริบตาจะลดลง ประกอบกับแสงสะท้อนจากจอคอมพิวเตอร์ ทำให้ตาเมื่อยล้า หรืออาจเกิดจากแสงสว่างไม่พอเหมาะ มีไฟส่องเข้าหน้าหรือหลังจอภาพโดยตรงหรือมีแสงสว่างจากหน้าต่างปะทะหน้าจอภาพสะท้อนเข้าตาผู้ใช้

ระยะทำงานที่ห่างจากจอภาพไม่เหมาะสม หรือมีสายตาผิดปกติ เช่น สายตายาวไม่มาก การทำงานตามปกติไม่ก่อให้เกิดอาการ แต่ถ้าทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เมื่อยล้าตาได้ บางรายมีโรคตาประจำตัว อาทิ ต้อหิน เรื้อรัง ม่านตาอักเสบ เป็นต้น หรือโรคทางกาย อาทิ ไซนัสอักเสบ โรคหวัด เป็นต้น เมื่อต้องปรับสายตามากเวลาใช้คอมพิวเตอร์จึงทำให้เกิดอาการเมื่อยตาได้ง่าย

กันไว้ดีกว่า ‘แย่’

การแก้ไข คือฝึกกะพริบตาบ่อยๆ หากแสบตามาก อาจใช้น้ำตาเทียมช่วย และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ

ควรปรับห้องอย่าให้มีแสงสะท้อนจากหน้าต่าง ควรใช้แผ่นกรองแสงวางหน้าจอ หรือใส่แว่นกรองแสง จัดวางคอมพิวเตอร์และเก้าอี้ให้เหมาะสม ในระยะที่สายตามองได้สบาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ใช้แว่นตา 2 ชั้นจะต้องตั้งจอภาพให้ต่ำกว่าระดับตาเพื่อจะได้ตรงกับเลนส์แว่นตาส่วนที่ใช้มองใกล้

ถ้าต้องใช้คอมพิวเตอร์นานๆ ควรปรึกษาจักษุแพทย์ ให้ใช้แว่นตาเฉพาะที่ดูได้ทั้งระยะอ่านหนังสือ และระยะไกล เป็นกรณีพิเศษ หากมีสายตาผิดปกติหรือโรคตาบางชนิดอยู่ ควรรักษาควบคู่ไปด้วย และหากอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ควรพักสายตาทุกๆ 1-2 ชั่วโมง โดยละสายตาจากหน้าจอ แล้วมองออกไปไกลๆ หรือหลับตาสักระยะหนึ่ง แล้วค่อยกลับมาทำงานใหม่

ดวงตาของเรานั้นมีความสำคัญยิ่งนัก อย่าปล่อยปะละเลย เผลอไผลจนสายเกินแก้ เพราะ…ดวงตา คือ หน้าต่างของหัวใจ ครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *