“โรคหิด” (Scabies)
เป็นโรคติดเชื้อผิวหนังที่พบบ่อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กโรคหิดเป็นโรคที่เกิดจากปรสิตชนิดหนึ่งชอนไชเข้าผิวหนังทำให้เกิดตุ่มคัน หิดเป็นโรคติดต่อโดยการสัมผัสกันโดยตรง สามารถเกิดที่ผิวหนังได้ทั่วร่างกายนอกจากนั้นโรคนี้ยังติดต่อโดยการจับมือ เสื้อผ้า หรือเครื่องใช้ แม้กระทั่งฝาโถส้วมก็สามารถติดต่อได้ ซึ่งรวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ แต่มียาสำหรับรักษาให้หายได้
หิด (Scabies mite) เป็น ไร (Mite) ชนิดหนึ่งที่เป็นปรสิต ต้องอาศัยบนร่างกายคน โดยดำรงชีวิตอยู่บนผิวหนังของคน และกินเซลล์ผิวหนังเป็นอาหาร
ตัวหิดทำให้เกิด“โรคหิด”ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการหลักสำคัญ คือ อาการคันและมีผื่นตามผิวหนัง โรคหิดมีการติดต่อถ่ายทอดจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ชิดสัมผัสโดยตรง ตัวหิดต่างจากหมัดตรงที่ไม่สามารถกระโดดได้
หากหิดอยู่นอกร่างกายคน จะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 2-3 วัน แต่ถ้าอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส มันจะมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น (จึงมักพบโรคหิดในหน้าหนาวมากกว่าในหน้าร้อน)ในคนปกติจะมีพบเชื้อหิด5-15 ตัว แต่ในคนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจมีพบเชื้อเป็นหลายล้านตัว
ผู้ที่เป็นโรคหิดจะพบลักษณะผื่นเป็นตุ่มแดง ตุ่มหนอง หรือผื่นที่เกิดจากอาการเกา ซึ่งผื่นมีลักษณะเป็นรอยนูนคดเคี้ยวคล้ายเส้นด้ายสั้นๆ ที่ผิวหนัง ความยาว 5-15 มม. อาการที่สำคัญของโรคหิด คือคันทั้งตัวมากๆ โดยเฉพาะเวลากลางคืน ผื่นเป็นตุ่มแดงหรือ ตุ่มน้ำใสเล็กๆ บริเวณง่ามนิ้ว ซอกพับต่างๆ เช่น รักแร้ ขาหนีบ ง่ามก้น ฯลฯ รอบสะดือ อวัยวะเพศชาย หัวนม ศอก เข่า
ในเด็กจะพบผื่นมากกว่าผู้ใหญ่ ถ้ามีอาการเกามากๆ อาจติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้!
หลักในการรักษาโรคหิด คือ ต้องรักษาผู้ที่เป็นหิดและผู้ที่อยู่ใกล้ชิดทุกคนไปพร้อมๆกัน ร่วมกับการควบคุมกำจัดหิดที่อาจหลงเหลืออยู่ในสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกันการแพร่สู่ผู้อื่นและการติดหิดซ้ำการรักษาหิดแบ่งเป็นการฆ่าตัวหิด การบรรเทาอาการคัน และการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ส่วนการป้องกันนั้นต้องนำผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เช่น ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน มารักษาไปด้วยพร้อมๆกัน และการกำจัดหิดที่อาจหลงเหลืออยู่ในสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้กลับเป็นหิดซ้ำได้