“ผื่นกุหลาบ” อีกหนึ่งโรคฮิตที่มากับหน้าฝน

0

เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก เผลอแป๊บเดียวก็เข้าเดือนกรกฎาคมแล้ว บอกเลยว่าต้องตั้งการ์ดให้หนัก เพราะความที่มีฝนชุกต่อเนื่อง และปริมาณฝนเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป จึงเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่าย โดยหนึ่งในโรคฮิตที่พบบ่อยให้ช่วงฤดูฝน คือ “ผื่นกุหลาบ”

 

30

 

 

โรคผื่นกุหลาบ หรือผื่นขุยกุหลาบ เป็นโรคผิวหนังที่มีอาการเฉียบพลัน ยังไม่มีสาเหตุแน่ชัด พบมีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัส ส่งผลให้ผู้ป่วยมีผื่นขึ้นในลักษณะเป็นวงกว้าง หรือเป็นจุดรูปไข่ขึ้นตามหน้าอก หน้าท้อง แผ่นหลัง มักมีอาการคันร่วมด้วย ผื่นมีลักษณะเฉพาะ รูปร่างกลมหรือรี มีการกระจายเป็นแนวตามร่องบนผิว คล้ายกับลักษณะของต้นสน

 

ส่วนใหญ่โรคนี้เกิดในคนอายุน้อย โดยเฉพาะช่วงอายุ 10-35 ปี พบได้ในทุกเชื้อชาติ และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายในอัตรา 2:1 ผื่นมักเกิดอยู่นานประมาณ 6-8 สัปดาห์แล้วหายได้เอง แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจเป็นนานถึง 5 เดือนหรือมากกว่า การวินิจฉัยแยกกับผื่นผิวหนังอักเสบอื่น ๆ มีรายงานว่า การเกิดผื่นกุหลาบในผู้ป่วยตั้งครรภ์ เป็นความเสี่ยงทำให้เกิดการแท้งได้  โดยเฉพาะช่วง 15 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์

 

ผื่นแรกมักเกิดขึ้นบริเวณลำตัวและมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ บางครั้งอาจพบบริเวณคอ หรือ แขนขาส่วนบนได้ โดยมักจะเกิดนำผื่นอื่น ๆ เป็นชั่วโมงหรือวัน ลักษณะเป็นผื่นเป็นสีชมพู สีแซลมอน หรือสีน้ำตาล อาจจะมีขอบยกเล็กน้อย ขนาดประมาณ 2-4 เซนติเมตร แต่บางกรณีอาจมีขนาด 1 เซนติเมตร หรือใหญ่ถึง 10 เซนติเมตร ตรงกลางของผื่นมีขุยขนาดเล็ก  ขอบขยายใหญ่ขึ้น ประมาณ 5% ของคนไข้มีอาการนำมาก่อน เช่น ปวดหัว มีไข้ ปวดข้อ และปวดเมื่อย อาจพบตุ่มหนองเล็ก ๆ ในช่วงแรกของโรค มักไม่พบผื่นบริเวณหน้า มือและเท้า ส่วนอาการคันในโรคผื่นกุหลาบพบได้ประมาณ 25%

 

ผื่นกุหลาบมักไม่มีอาการแสดงและสามารถหายได้เอง โดยไม่ทิ้งร่องรอย การรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการเป็นหลัก การใช้ครีมชุ่มชื้นผิวที่เหมาะสม ร่วมกับยาทาสเตียรอยด์ หรือ ยากินในกลุ่ม antihistamines สามารถช่วยลดอาการคันได้  แต่ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง การรับประทานยาในกลุ่มสเตียรอยด์ช่วงสั้น ๆ การฉายแสง UVB (Narrowband or broadband) สามารถช่วยควบคุมโรคได้

 

สำหรับวิธีบรรเทาอาการผื่นกุหลาบด้วยตนเองในเบื้องต้น มีดังนี้

  1. อาบน้ำด้วยน้ำเย็น และหลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อน
  2. หลีกเลี่ยงการใช้สบู่ที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง เลือกใช้สบู่ที่อ่อนโยนต่อผิว และไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม
  3. สวมใส่เสื้อผ้าที่ทำจากผ้าฝ้ายหรือผ้าไหม เพื่อช่วยระบายความร้อน
  4. หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพอากาศร้อน เพราะอากาศที่อบอ้าว ทำให้มีเหงื่อออกมากอาจส่งผลให้อาการรุนแรงขึ้น

 

โดยทั่วไปอาการผื่นกุหลาบมักจะหายไปได้เองภายใน 6-8 สัปดาห์ การรักษาจึงเป็นแบบการประคับประคองตามอาการเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม หากอาการคงอยู่เป็นเวลานานกว่า 3 เดือน ควรไปพบแพทย์

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *