รู้จักโรค PTSD เช็คซิ คุณเข้าข่ายผู้ป่วยหรือเปล่า?

0

สืบเนื่องมาจากภาวะน้ำท่วมที่ผ่านมาในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เชื่อว่าผู้ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับสุขภาพเป็นประจำคงเคยได้ยินได้เห็นคำว่า PTSD ผ่านหูผ่านตามาบ้าง เพราะผู้ประสบอุทกภัยหลายท่านกำลังเจ็บป่วยหรือมีแนวโน้มที่จะเกิดโรคทางใจนี้ขึ้นได้ โรคพีทีเอสดี คืออะไร เราไปทำความรู้จักกันค่ะ

โรคพีทีเอสดี

บ้างก็เรียกโรคนี้ว่า “โรคเครียดรุนแรง” (PTSD : Post-Traumatric Stress Disorder) คือ โรคที่มีอาการเครียดและเจ็บป่วยหลังจากเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อจิตใจอย่างรุนแรง โดยส่วนหนึ่งจะมาจากเหตุการณ์หายนะภัยพิบัติต่างๆ เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม นอกจากนี้ยังมาจากเหตุการณ์สะเทือนใจที่เกิดจากมนุษย์ด้วยกันเอง เช่น การถูกทำร้ายอย่างรุนแรง การถูกข่มขืน การสูญเสียคนที่รักจากเหตุการณ์สะเทือนใจ โดยทั่วไปจะพบได้หลังเกิดเหตุการณ์ 3-6 เดือน แต่บางคนอาจเกิดได้เร็วกว่า

ptsd

สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณอาจป่วยด้วยโรค PTSD

  1. ยังรู้สึกถึงเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นนั้นอยู่

คิดถึงเหตุการณ์บ่อยๆ ฝันร้ายถึงเหตุการณ์นั้นบ่อยๆ รู้สึกเจ็บปวด ทรมาน เป็นทุกข์อย่างมาก เมื่อมีสิ่งเร้าที่มากระตุ้นให้เรานึกถึง เช่น เห็นทะเลก็นึกถึงภาพตอนตัวเองจมน้ำซ้ำแล้วซ้ำอีก

  1. หลีกเลี่ยงเหตุการณ์ สถานที่ หรือบุคคล

หลีกเลี่ยงที่จะคิดหรือพูดถึงเหตุการณ์นั้น แยกตัว หรือรู้สึกห่างเหินออกจากเพื่อน ครอบครัว หรือบุคคลใกล้ชิดอื่นๆ ไม่สนใจกิจกรรมที่เคยชอบ หรือไม่กล้าขับรถ เพราะเคยขับรถชนคนตาย เป็นต้น

  1. มีอาการที่บ่งถึงความเครียด

นอนไม่หลับ หลับยาก ไม่มีสมาธิ ตื่นเต้นตกใจง่าย (อาการเหล่านี้หากเกิดในเด็กเล็ก จะส่งผลต่อพัฒนาการทางสมอง ทำให้ตัดสินใจไม่ดี ไม่มีสมาธิการเรียน รู้สึกไม่มีคุณค่า อาจมีอารมณ์ก้าวร้าวเมื่อโตขึ้น) หงุดหงิดง่าย แสดงอารมณ์ต่างๆอย่างรุนแรงกว่าที่เคยเป็น หรือมีอาการทางกายอื่นเช่น ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็ว มีความตึงกล้ามเนื้อสูง คลื่นไส้ ท้องร่วง เป็นต้น

นอกจากต้องทำความเข้าใจกับโรค PTSD ที่เกิดขึ้นแล้ว สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความเครียดน้อยลงคือ ครอบครัว เพื่อน และคนใกล้ชิด พยายามหากิจกรรมสนุกๆ หรือกิจกรรมที่ชอบทำกับคนใกล้ชิดนะคะ

ที่สำคัญ หากรู้สึกว่าเราไม่สามารถจัดการกับปัญหา อาการ หรืออารมณ์ของเราได้ อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือจากบุคคลรอบข้างหรือนักจิตวิทยานะคะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *