“เกาต์เทียม” ความเสี่ยงของการเกิดโรคเพิ่มขึ้นตามอายุ

0

“เกาต์เทียม (Pseudogout) เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่ง เกิดจากการคั่งและสะสมของผลึกแคลเซียมไพโรฟอสเฟทไดฮัยเดรท (Calcium Pyrophosphate Dihydrate หรือ CPPD ชื่ออย่างเป็นทางการของโรคเกาต์เทียมคือ โรคซีพีดีดี)

ในข้อ การคั่งและสะสมของผลึกนี้ทำให้ข้อเสื่อมสภาพเร็วและบางครั้งทำให้เกิดการอักเสบเฉียบพลันของข้อเป็นพักๆ คล้ายโรคเกาต์จึงเรียกว่าโรคเกาต์เทียม

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคเกาต์เทียมที่ชัดเจน สันนิษฐานว่า เมื่ออายุมากขึ้น ทำให้กระบวนการทางเคมีในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงไป จนก่อให้เกิดอาการอักเสบของข้อขึ้น

โรคเกาต์เทียมพบได้ในคนทุกเชื้อชาติ ทั้งชายและหญิงมีโอกาสเป็นโรคได้เท่าๆ กัน โดยความเสี่ยงของการเกิดโรคจะเพิ่มขึ้นตามอายุ

ผู้ป่วยโรคเกาต์เทียมมีอาการได้หลายรูปแบบคือ…

pseudogout

  1. ไม่มีอาการ ผู้ป่วยจะไม่มีอาการใดปรากฏ แต่หากนำผู้ป่วยไปเอกซเรย์ จะพบหินปูนเกาะบริเวณกระดูกอ่อนที่อยู่รอบข้อต่างๆ โดยข้อที่พบบ่อย ได้แก่ ข้อเข่า ข้อมือ ข้อต่อกระดูกบริเวณหัวหน่าว และข้อสะโพก
  2. อาการข้ออักเสบเฉียบพลัน อาการคล้ายโรคเกาต์ คือปวดและบวมเฉียบพลันที่ข้อ ผิวหนังรอบๆข้อมีสีแดง จับแล้วร้อน ส่วนใหญ่เป็นแค่ข้อเดียวหรือ 2-3 ข้อ มักเกิดที่ข้อเข่าและข้อมือ โดยความถี่ของการเกิดจะไม่แน่นอน เมื่อเป็นหลายครั้ง กระดูกอ่อนและกระดูกของข้อนั้นๆ จะค่อยๆถูกทำลายทำให้ข้อผิดรูปได้
  3. อาการข้ออักเสบเรื้อรังคล้ายโรคข้อเสื่อมอักเสบ เป็นกลุ่มที่พบมากที่สุด โดยมีอาการปวดข้อเป็นๆหายๆ หรือปวดเรื้อรัง โดยจะปวดมากขึ้นเมื่อใช้งานข้อนั้นๆ และดีขึ้นเมื่อไม่ใช้งานเมื่อเป็นนานๆ ข้อจะผิดรูปร่างได้ และทำให้เคลื่อนไหวข้อได้น้อยลง ข้อที่เกิดอาการบ่อยคือ ข้อระหว่างข้อมือและนิ้วมือ ข้อมือ ข้อศอก
  4. อาการข้ออักเสบคล้ายโรคข้อรูมาตอยด์ คือ ปวดที่ข้อระหว่างนิ้วมือหรือข้อที่อยู่ระหว่างข้อมือและนิ้วมือ อาการปวดเป็นแบบเรื้อรัง มีอาการบวมของข้อ และมีข้อแข็ง ข้อยึด โดยจะเป็นอยู่นานเป็นชั่วโมง
  5. อาการข้ออักเสบคล้ายโรค Neuropathic Joint โดยจะมีอาการปวดข้อเรื้อรัง ข้อบวม กระดูกอ่อนและกระดูกรอบๆข้อถูกทำลายอย่างมากจากการอักเสบเรื้อรัง ทำให้ข้อผิดรูปและใช้งานไม่ได้ มักพบในข้อเข่า

ผู้ป่วยที่มีข้ออักเสบเฉียบพลัน เมื่อเป็นหลายๆครั้ง จะนำไปสู่การเกิดข้อผิดรูปได้ ฉะนั้นเมื่อมีอาการปวด และบวมของข้อแบบเฉียบพลัน หรือแบบเรื้อรัง ควรรีบพบแพทย์นำไปสู่การรักษาที่เหมาะสมก่อนจะสายเกินแก้เพราะไม่มียาที่จะช่วยรักษาให้ข้อที่เสื่อมและผิดรูปไปแล้วกลับมาปกติได้

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *