“โรครองช้ำ” หรือที่รู้จักกันในชื่ออื่นๆ ได้แก่ โรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ, โรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ และโรคปวดส้นเท้าเป็นโรคที่พบได้บ่อย ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บที่ส้นเท้าจนลามไปทั่วฝ่าเท้า บางครั้งอาจลามไปที่อุ้งเท้าด้วย เจ็บแบบปวดจี๊ดขึ้นมาและปวดแสบ ความเจ็บปวดจะค่อยๆเกิดขึ้นทีละน้อย จนคิดว่าเดี๋ยวก็หาย แต่สุดท้ายจะกลับมาปวดอีก โดยมีอาการปวดมากที่สุดเมื่อลุกเดินก้าวแรกหลังตื่นนอนหรือหลังจากนั่งพักเป็นเวลานาน รวมถึงอาจปวดมากขึ้นหลังจากที่เท้าต้องรับน้ำหนักเป็นเวลานาน เช่น ยืนหรือเดินนานๆ
ใครบ้างเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้??
1. ผู้หญิง เนื่องจากไขมันส้นเท้าจะบางกว่า เอ็นและกล้ามเนื้อของน่องและฝ่าเท้าไม่แข็งแรงเท่าผู้ชาย
2. ผู้ที่มีน้ำหนักเกินน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นอาจก่อให้เกิดพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบได้
3. อายุมากขึ้น เนื่องจากไขมันบริเวณส้นเท้าจะบางลง ทำให้จุดเกาะของเอ็นฝ่าเท้าบริเวณกระดูกส้นเท้าได้รับแรงกระแทกมากขึ้นพบมากในผู้ป่วยอายุ 40 ปีขึ้นไป
4. ผู้ที่ทำงานที่ต้องยืนหรือเดินนานๆ บนพื้นแข็ง หรือขรุขระ
5. ผู้ที่ออกกำลังกายที่หนักเกินไป หรือไม่ได้ยืดกล้ามเนื้อน่องหรือเอ็นร้อยหวาย
6. มีภาวะฝ่าเท้าแบนหรือโก่งโค้งจนเกินไป
7. มีความผิดปกติของข้อเท้า ข้อเข่าหรือข้อสะโพก ทำให้การเดินและการลงน้ำหนักผิดไปจากปกติ รวมถึงผู้มีความปกติของเท้า เช่น เท้าแบนเกินไป อุ้งเท้าโก่งมากเกินไป หรือเส้นเอ็นยึดบริเวณน่องทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อเท้าได้ตามปกติ
8. ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์หรือข้อสันหลังอักเสบ อาจทำให้มีโอกาสเกิดการอักเสบที่เส้นเอ็นในจุดใดจุดหนึ่งที่เชื่อมต่อกับกระดูก ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบได้
9. มีการใช้รองเท้าที่ไม่ถูกลักษณะ เช่น พื้นรองเท้าบางและแข็งเกินไป“โรครองช้ำ” สามารถป้องกันได้โดยเลือกใช้รองเท้าที่ถูกลักษณะ มีตัวรองส้นที่นุ่ม พื้นไม่บางหรือแข็งเกินไป พร้อมลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆข้างต้น
แม้จะดูเหมือนโรคนี้ไม่อันตรายร้ายแรง แต่ก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา เพราะอาจลุกลามจนส่งผลร้าย คือเกิดการอักเสบของข้อต่อและกล้ามเนื้ออื่นๆในขาเดียวกันรวมถึงสะโพกและบั้นเอวด้วยหากมีอาการปวดส้นเท้าผิดปกติควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป