“ไอกรน” โรคติดต่อที่สำคัญของระบบทางเดินหายใจ

0

“โรคไอกรน”

(Pertussis/Whooping Cough คำว่า Pertussis แปลว่า การไอที่รุนแรง) เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน (จมูก คอ และท่อลม) เกิดได้ในทุกสภาพอากาศหรือภูมิประเทศ ในชุมชนที่มีประชาชนอยู่รวมกันอย่างหนาแน่น มักพบผู้ป่วยด้วยโรคนี้สูง โดยเฉพาะในช่วงปลายฤดูหนาวและต้นฤดู ใบไม้ผลิ โรคไอกรนมักเกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

pertussis

โรคไอกรนเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Bordettella ซึ่งมีอยู่ 6 สายพันธุ์ บางสายพันธุ์ทำให้เกิดโรคเฉพาะในคน บางสายพันธุ์ทำให้เกิดโรคเฉพาะสัตว์โรคไอกรนสามารถติดต่อโดยการหายใจรับเชื้อที่อยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย  หรือในอากาศเข้าสู่ร่างกาย เชื้อจะลุกลามเข้าไปในเยื่อเมือกของ หลอดลม สามารถติดต่อได้ง่ายในระยะแรกของโรค ก่อนเกิดอาการไออย่างรุนแรง โดยเชื้อนี้มีระยะฟักตัวนานประมาณ 7-14 วัน

อาการของโรคไอกรนในระยะแรกจะเริ่มด้วยอาการไอเล็กน้อย แล้วค่อยรุนแรงขึ้น ซึ่งแบ่งอาการได้เป็น 3 ระยะ คือ

  1. ระยะน้ำมูกไหล เริ่มด้วยน้ำตาไหล จาม น้ำมูกไหล เบื่ออาหาร เวียนศีรษะ ไอแห้งๆตอนกลางคืน ต่อมาจะไอตอนกลางวันด้วย
  2. ระยะไอติดต่อกันเป็นพักๆ ระยะนี้จะมีอาการไอติดต่อกันเป็นชุด ๆ แต่ละชุดมีการไอหลายครั้งติดกัน จนหายใจเข้าไม่ทัน เมื่อหยุดไอจะรีบหายใจเข้าลึกๆ แรง ๆ เสียงดัง “วี๊ด” และอาจไอมากขึ้นๆ จนไม่ได้พักผ่อน ส่งผลให้ผู้ป่วยหงุดหงิดง่าย จาม ท้องอีด เวลาไอจะมีเสมหะเหนียวมาก ทำให้อาเจียน
  3. ระยะหายจากการไอ จะมีอาการไอน้อยลงและเริ่มเข้าสู่ปกติ โดยจะหมดอาการของโรคเมื่อครบ3 เดือนโดยประมาณ

โรคแทรกซ้อนทางระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อยจากโรคไอกรน คือ ปอดอักเสบ นอกจากนี้อันตรายจากโรคไอกรน (มักพบในเด็ก) ได้แก่ การหายใจไม่ออกในเด็กทารก โรคปอดบวม อาการทางสมอง เลือดออกในสมอง เลือดออกในนัยน์ตา โรคถุงลมโป่งพอง และอาจมีอาการชักได้เพื่อเป็นการป้องกันโรคไอกรนเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี จึงควรเข้ารับวัคซีนป้องกันไอกรน 4-5 ครั้ง (เด็กที่มีอายุเกิน 7 ปี แล้วจะไม่ให้วัคซีนไอกรน ทั้งนี้เพราะจะพบปฏิกิริยาข้างเคียงได้สูง)

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *