รู้ให้ลึก…“โรคพาร์กินสัน” ไม่ใช่แค่อาการสั่น!!

0

เมื่อพูดถึง “โรคพาร์กินสัน” เชื่อว่าภาพแรกที่หลายคนนึกในหัวคืออาการสั่นที่ควบคุมไม่ได้ของกล้ามเนื้อในผู้ป่วยราวกับเป็นของคู่กัน คำถามที่ตามมาก็คือ ถ้าอาการเด่นๆ ของโรคพาร์กินสัน คือ การสั่นเท่านั้นโรคนี้ก็ดูไม่น่าจะเป็นโรคอันตรายร้ายแรงสักเท่าไหร่ ว่าแต่ความเข้าใจนี้ถูกต้องหรือไม่ เรามาเจาะลึกถึงโรคพาร์กินสันกันดีกว่า

โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)

หรือโรคสันนิบาต/ โรคสั่นสันนิบาต คือ โรคทางสมองที่เกิดจากเซลล์ประสาทในบางตำแหน่งเกิดมีการตายโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ทำให้สารสื่อประสาทในสมองที่ชื่อว่า โดปามีน (Dopamine) มีปริมาณลดลง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการที่สำคัญ คือ อาการสั่นขณะอยู่นิ่งๆ เกิดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ เคลื่อนไหวร่างกายช้าลง และการทรงตัวขาดความสมดุล

โดยอาการจะเริ่มจากข้างใดข้างหนึ่งและลามไปอีกข้างหนึ่ง โดยที่อาการทั้งสองข้างจะไม่เท่ากัน เมื่อระยะเวลาผ่านไปอาการจะเป็นมากขึ้น โดยข้างที่เริ่มเป็นก่อนจะคงเป็นมากกว่าข้างที่เป็นทีหลัง ส่วนอาการอื่นที่อาจพบร่วมด้วย ได้แก่ อาการน้ำลายไหลควบคุมไม่ได้ เขียนตัวหนังสือเล็กลง เดินไม่แกว่งแขน เดินซอยเท้า เท้าติด ยกเท้าลำบาก หกล้มบ่อย พูดเสียงเบาอยู่ในลำคอ นอนไม่หลับจากขากระตุก ฝันเสมือนจริง ท้องผูก เป็นต้น

pakinson

สาเหตุของการเกิดพาร์กินสันในผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ทราบชัดเจน… !!!

แต่พบปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่

  • ความชราภาพของสมอง ส่งผลทำให้เซลล์สมองที่สร้างสารโดปามีนมีจำนวนลดลง
  • ยากล่อมประสาทหลัก หรือยานอนหลับที่ออกฤทธิ์กดหรือต้านการสร้างสารโดปามีน
  • ยาลดความดันโลหิตสูง
  • หลอดเลือดในสมองอุดตัน
  • สารพิษทำลายสมอง
  • สมองขาดออกซิเจน
  • การอักเสบของสมอง
  • โรคทางพันธุกรรม
  • ยากลุ่มต้านแคลเซียมที่ใช้ในโรคหัวใจ โรคสมอง ยาแก้เวียนศีรษะ และยาแก้อาเจียนบางชนิด

โรคพาร์กินสันยังไม่มีวิธีสำหรับป้องกัน แม้จะมียารักษาอาการต่างๆ แต่ยังไม่มียาที่จะรักษาให้โรคหายขาดได้ โดยทั่วไป อาการของโรคจะแสดงออกมากน้อยแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ ด้าน เช่น อายุ ระยะเวลาการเป็นโรค และภาวะแทรกซ้อนที่ตามมา จึงเป็นการยากที่จะรู้ตัว ฉะนั้นการตรวจเช็คสุขภาพอย่างสม่ำเสมอจึงอาจช่วยได้ในระดับหนึ่ง

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *