“โรคแพนิค” (Panic/ Panic Disorder)
หรืออาจเรียกว่า “โรคตื่นตระหนก” เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่ผู้ป่วยจะมีความทุกข์ทรมานอย่างมากจากอาการวิตกกังวลซึ่งสามารถแสดงออกได้หลายอย่าง และอาการนั้นมีความรุนแรงจนรบกวนกับการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยโรคแพนิคจะมีอาการตกใจกลัวอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นซ้ำๆ โดยที่ไม่สามารถควบคุมอาการเหล่านั้นได้
“โรคแพนิค” พบบ่อยในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ผู้ป่วยมักคิดว่าตนเองเป็นโรคหัวใจหรือโรคร้ายแรง แต่พอไปตรวจร่างกายก็ไม่พบความผิดปกติ
ทั้งนี้ตัวโรคจะไม่ทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ผู้ป่วยจะทรมานจากอาการและดำเนินชีวิตด้วยความวิตกกังวลตลอดเวลาและอาจพบภาวะอื่นๆ ตามมา ที่พบบ่อยคือภาวะซึมเศร้า จากการมีอาการและไม่ทราบว่าตัวเองเป็นอะไรแน่ กลัวว่าจะตายจากโรค ทำให้ผู้ป่วยเริ่มท้อแท้
มีปัจจัยหลายประการที่อาจประกอบกันทำให้เกิดโรคแพนิค เช่น ระบบประสาทอัตโนมัติ (Automatic Nervous system) ทำงานผิดปกติไป เนื่องจากระบบประสาทอัตโนมัติควบคุมการทำงานของร่างกายในหลายส่วน, กรรมพันธุ์, การมีอาการจู่โจมเกิดขึ้นครั้งแรก อาจมีความสัมพันธ์กับความตึงเครียดในชีวิต โรคทางอายุรกรรมหรือยาบางตัวฮอร์โมนที่ผิดปกติรวมถึงการใช้สารเสพติดเป็นต้น
อาการหลักของโรคแพนิค ได้แก่ อาการตกใจกลัวอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นหลายๆ ครั้ง มักเกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ และจะมีอาการอยู่สั้นๆประมาณ 5-10นาทีไม่นานเกิน 30 นาที
ส่วนอาการของแพนิคมีได้หลายๆ อย่าง เช่น ใจสั่น ใจเต้นแรง เหงื่อแตก มือเย็น หายใจไม่อิ่มรู้สึกมีก้อนจุกที่คอ อึดอัด แน่นหน้าอก ขาสั่น มือสั่น เวียนศีรษะ คลื่นไส้ มวนท้อง มีความรู้สึกภายในแปลกๆ เช่น มึนงงคล้ายจะเป็นลม รู้สึกเหมือนกำลังจะตาย รู้สึกหวิวๆ ลอยๆ คล้ายอยู่ในฝัน โดยที่จะมีอาการหลายๆ อย่างดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน แต่ไม่จำเป็นต้องมีทุกอาการ
ดังนั้น เมื่อเกิดอาการขึ้นเป็นครั้งแรก หรือเมื่อไม่แน่ใจในสาเหตุของอาการ ควรพบแพทย์เพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยให้ถูกต้องก่อนว่าอาการไม่ได้เกิดจากสาเหตุอื่น โดยการรักษาโรคแพนิคควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยที่การรักษาจะใช้การผสมผสานระหว่างการให้ยาเพื่อลดอาการแพนิค และให้ยาเพื่อคุมอาการ ร่วมกับการรักษาทางจิตสังคม เช่นพฤติกรรมบำบัด การผึกการผ่อนคลาย หรือการทำจิตบำบัด