โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) เป็นโรคที่เกิดกับกระดูกที่มีการลดลงของความหนาแน่นของมวลกระดูก ส่งผลให้กระดูกมีโอกาสหักได้ง่าย โดยเฉพาะกระดูกสันหลัง ข้อสะโพก ข้อมือ และกระดูกต้นแขนบริเวณหัวไหล่ โรคกระดูกพรุนมีอีกชื่อว่า “มฤตยูเงียบ” เพราะว่าอาการของโรคจะรุกคืบตลอดเวลา โดยไม่มีอาการเตือนล่วงหน้ามาก่อน ผู้ป่วยจะรู้ตัวก็ต่อเมื่อเกิดกระดูกหักเสียแล้ว
โรคกระดูกพรุนนี้พบได้ในสตรีมากกว่าบุรุษ เพราะมวลกระดูกของสตรีมีน้อยกว่าของบุรุษ และเมื่อสตรีหมดประจำเดือนจะขาดฮอร์โมนอีสโตรเจนที่ช่วยทำให้แคลเซี่ยมมาจับที่เนื้อกระดูกลดลง ทำให้กระดูกบางลงๆ หลังหมดประจำเดือน ซึ่งจะแสดงให้เห็นโดยหลังโกงลง หรือความสูงลดลง มักพบเมื่อสตรีหมดประจำเดือนไปแล้ว 5-10 ปี
ร่างกายคนเราต้องการแคลเซียมวันละประมาณ 1,000 – 1,500 มิลลิกรัม จึงควรที่จะรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง นม โยเกิร์ต ปลาตัวเล็กตัวน้อย เต้าหู้ ถั่วเหลือง ผักใบเขียว รวมถึงวิตามินดี เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือคาเฟอีน น้ำอัดลมและอาหารเค็มจัด เลิกสูบบุหรี่ (จากผลการวิจัยพบว่า คนที่สูบบุหรี่ก็มีโอกาสที่จะเกิดกระดูกสะโพกหักมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่)ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อป้องกันการลดลงของแคลเซียม นอกจากนี้ควรหมั่นออกกำลังกายที่ไม่หักโหมมากนัก เช่น เดิน วิ่งเหยาะๆ
สำหรับผู้สูงอายุ ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย เมื่อมวลและความหนาแน่นของกระดูกลดลง ทำให้กระดูกพรุน มีโอกาสเสี่ยงต่อกระดูกหักได้ โดยเฉพาะกระดูกสันหลัง ข้อมือ สะโพก กระดูกเชิงกราน และ ต้นแขน ดังนั้นจึงควรระมัดระวัง หาทางป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ ขอคำแนะนำจากแพทย์ ตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกโดยใช้เครื่องวัดมวลกระดูก เพื่อการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง และหาทางรักษาอย่างถูกวิธี