เมื่อพูดถึง “โรคข้อเสื่อม” เชื่อว่าเหล่าหนุ่มสาวและคนวัยทำงานคงไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก เพราะคุ้นเคยกันดีว่าเป็นโรคของผู้สูงวัยที่มักอยู่ในกลุ่มเสี่ยงอันเนื่องมาจากความเสื่อมถอยของร่างกาย
แต่รู้หรือไม่ว่าอีกหนึ่งกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ไม่แพ้กันก็คือ วัยทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มที่ออกแรงใช้เข่ามาก!
ในประเทศไทยพบปัญหา โรคกระดูกและข้อเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมและสึกหรอของข้อต่อต่างๆ ในร่างกายหลังจากการใช้งานมานาน ภาวะข้อเสื่อมตามสภาพร่างกายนั้นจึงเกิดขึ้นกับทุกคนเมื่อมีอายุมากขึ้น โดยเฉพาะในผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
บางรายพบตั้งแต่อายุ 30 ปี พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และมีอาการปวดรุนแรงมากกว่าในจำนวนนี้พบว่าเป็นอาการของข้อเข่าเสื่อมและอักเสบถึงร้อยละ 28.34 เนื่องจากเป็นข้อที่รับนํ้าหนักและใช้งานมาก
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดข้อเสื่อมมาจากหลายสาเหตุ เช่น เสื่อมตามวัย อุบัติเหตุ ติดเชื้อ โรคเก๊าท์ โรครูมาตอยด์ และเกิดจากการทำงานที่ออกแรงใช้เข่ามาก มีการกระแทก หรืองอเข่าบ่อยๆ เช่น ต้องขึ้นบันไดแบกของหนัก เดินไกลๆ หรือลุกนั่งบ่อยๆ รวมถึงที่มีน้ำหนักตัวมาก
อาการข้อเข่าเสื่อมมักมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป อาการที่ปวดจะสัมพันธ์กับงานที่ทำ เมื่อพักการใช้งานเข่าและอยู่ในท่าที่สบายมักจะไม่มีอาการปวดเข่า หากอาการปวดเข่านั้นเป็นมากแม้จะอยู่เฉยๆ รวมทั้งมีอาการปวดบวมแดงร้อน มีไข้ หรือมีอาการปวดตอนกลางคืนมากจะไม่ใช่ข้อเข่าเสื่อมจากการทำงาน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง
ทั้งนี้การรักษาแบ่งได้เป็นหลายวิธี ได้แก่…
- กายภาพบำบัด
- การใช้ยา
- การรักษาด้วยการผ่าตัด
แต่วิธีสุดท้ายนั้นเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอายุมาก มีอาการข้อเข่าเสื่อมมากและไม่ได้ทำงานหนัก ไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอายุน้อยและทำงานหนัก เนื่องจากข้อเข่าเทียมมีอายุการใช้งานจำกัดและไม่สามารถทนต่อการทำงานหนักๆ ได้
ทั้งนี้ผู้ป่วยที่มีข้อเข่าเสื่อมจากการทำงานนั้นควรมีความเข้าใจในตัวโรค เพื่อที่จะดูแลตัวเองและพบแพทย์เพื่อรับการรักษาได้อย่างเหมาะสม