เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายย่อมเสื่อมโทรมไปตามวัย ในส่วนของโรคยอดนิยมอย่าง “โรคข้อเข่าเสื่อมนั้น” พบว่า คนอายุ 40 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงสูง นอกจากปัจจัยทางด้านอายุแล้ว ยังพบว่าปัจจัยเรื่องเพศก็มีผลกับความเสี่ยงของโรคข้อเข่าเสื่อมค่ะ โดยผู้หญิงยังมีโอกาสเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมมากกว่าผู้ชาย 2-3 เท่า
ข้อมูลจาก นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า…
โรคข้อเข่าเสื่อม เกิดจากความผิดปกติของกระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อเข่าทั้งรูปร่าง โครงสร้าง คุณสมบัติ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของกระดูกบริเวณใกล้ข้อ ความผิดปกตินี้ทำให้ผิวข้อเสียหายไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิมได้ และอาจมีความเสื่อมรุนแรงขึ้น
โรคข้อเข่าเสื่อมมีความสัมพันธ์กับอายุ โดยทั่วไปมักพบในผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปี และพบว่า ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้มากกว่าร้อยละ 50
อย่างไรก็ตาม การเกิดข้อเข่าเสื่อมไม่ได้เกิดจากอายุที่เพิ่มขึ้น การเสื่อมสภาพตามวัย หรือการใช้งานข้ออย่างหนักเสมอไป อาจเป็นผลมาจากโรคหรือภาวะต่างๆ ได้แก่ ข้อเข่าเสื่อมหลังจากการบาดเจ็บรุนแรง กระดูกแตกหักถึงผิวข้อ การติดเชื้อโรคข้อทางเมตาบอลิค
นอกจากนี้ ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากก็มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากผิวกระดูกอ่อนต้องรับแรงกระทำที่มากตามไปด้วย ส่งผลให้กระดูกผิวข้อเสื่อมสภาพได้มากขึ้น ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณกระดูกและข้อเข่ามาก่อน ผู้ที่เป็นโรคข้ออักเสบและรูมาติซึ่ม เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเกาต์ การอักเสบของข้อบ่อยๆ รวมทั้งพันธุกรรม นอกจากนี้ ยังพบว่า เพศหญิงมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าเพศชาย 2-3 เท่า
อาการของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมมักเริ่มจากปวดบริเวณข้อเข่า ลุกขึ้นจากท่านั่งลำบาก ข้อขัด ฝืด ตึง มีเสียงดังกรอบแกรบเวลาขยับเข่า งอเข่าได้น้อยลง หรือเหยียดข้อเข่าได้ไม่สุด
ในระยะแรกการปวดเข่ามักสัมพันธ์กับการลงน้ำหนัก การเดิน การขยับ ยกเว้นข้อเข่าเสื่อมจากโรคข้ออักเสบอาจมีอาการปวด บวม ร้อน ตลอดเวลาที่มีการอักเสบ ผู้ที่เป็นข้อเข่าเสื่อมอย่างรุนแรงในระยะท้าย อาการปวดเข่าอาจเกิดได้ตลอดเวลาแม้ไม่ได้มีการใช้งาน ข้อเข่าจะมีการผิดรูปเกิดอาการขาโก่งหรือขาฉิ่งได้
ทั้งนี้ โรคข้อเสื่อมสามารถป้องกันหรือชะลอการเสื่อมได้โดย ควบคุมน้ำหนัก รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย รวมถึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยง เช่น หลีกเลี่ยงการคุกเข่า นั่งยอง นั่งกับพื้น หรือนั่งพับเพียบขัดสมาธิ หากเดินไม่สะดวกแนะนำให้ใช้ไม้เท้าช่วยพยุง
ส่วนการออกกำลังกายที่ดีต่อข้อเข่า คือ การออกกำลังกายในน้ำ เพราะข้อเข่าไม่ต้องรับแรงกระทำค่ะ