เชื้อราที่เล็บเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย เป็นเชื้อราชนิดกลากแท้หรือกลากเทียมที่เล็บ จากการสัมผัสดินหรือพื้นผิวที่สกปรก หรือติดเชื้อจากบริเวณอื่น หรือใช้รองเท้าร่วมกับผู้อื่น การเป็นเชื้อราที่เล็บนี้จะทำให้เล็บหนา รูปร่างผิดปกติ และยังส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ที่เป็นเชื้อราที่เล็บด้วย
โรคเชื้อราที่เล็บ (Onychomycosis) หมายถึง การติดเชื้อราซึ่งรวมถึงราที่เป็นสายรา หรือเชื้อราในรูปของยีสต์ที่เล็บ โดยปกติแล้วเชื้อราที่กล่าวมานี้มีขนาดเล็กมากไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า แต่สามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ในประเทศไทยชนิดของเชื้อราที่พบบ่อยๆ คือ เชื้อกลากแท้ เชื้อกลากเทียม และเกิดจากยีสต์โดยเฉพาะเชื้อแคนดิดา ซึ่งแต่ละสายพันธุ์จะมีความแตกต่างในการรักษาและในผลการรักษา โรคนี้พบในเพศชายมากกว่าหญิง พบบ่อยในผู้สูงวัย รวมถึงพบที่เล็บเท้ามากกว่าที่เล็บมือ
อาการของโรคเชื้อราที่เล็บ ได้แก่ เล็บหนาตัวขึ้น, เล็บผิดรูป, เล็บเปลี่ยนสี เช่น เปลี่ยนเป็นสีขาว สีเหลือง สีเขียว หรือสีดำ,
เล็บเปราะ มีรอยร้าว แตกหักง่าย มีขุยใต้เล็บ, เล็บมีกลิ่นเหม็น, เล็บแยกตัวออกจากฐานเล็บ โดยทั่วไปไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด แต่อาจรู้สึกเจ็บที่นิ้วมือหรือนิ้วเท้าที่ติดเชื้อในขณะทำกิจกรรมทั่วๆ ไป
ปัจจัยเสี่ยงเกิดเชื้อราที่เล็บ ได้แก่ มีโรคเรื้อรังอื่นๆ บางโรคร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน, โรคสะเก็ดเงิน, มีความบกพร่องทางภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด, มีการบาดเจ็บบริเวณเล็บบ่อยๆ หรือมีการทำลายของผิวหนังบริเวณขอบเล็บซึ่งเป็นส่วนที่ป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่เล็บ เช่น การใส่รองเท้าที่รัดแน่นไป, การที่เล็บโดนสารระคายเคืองต่างๆ, การถอดรองเท้าเดินตามห้องน้ำสาธารณะ, การมีสุขอนามัยที่ไม่ดี ไม่รักษาความสะอาดร่างกายและเล็บ
เมื่อสงสัยหรือพบว่าตนเองเป็นโรคเชื้อราที่เล็บควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาด้วยการรับประทานยาฆ่าเชื้อรา จะใช้เวลาประมาณ 2 – 3 เดือน สำหรับเล็บมือ และประมาณ 3 – 4 เดือน สำหรับเล็บเท้า ผู้ป่วยที่รับประทานยาควรได้รับการตรวจเลือดเพื่อเฝ้าระวังผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น และต้องระมัดระวังในการรับประทานยาฆ่าเชื้อราควบคู่กับการรับประทานยาชนิดอื่นเพราะอาจมีผลกระทบได้ ในผู้ป่วยที่มีอาการมาก ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจต้องได้รับการรักษาทั้งยารับประทานและยายาทาฆ่าเชื้อราควบคู่กัน ก่อนใช้ยาทุกครั้งควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
การป้องกันจากโรคเชื้อราที่เล็บทำได้โดย
1. รักษาความสะอาดของมือเท้า และเล็บอย่างสม่ำเสมอ ดูแลเท้าให้แห้ง ไม่อับชื้น
2. ไม่ใช้กรรไกรตัดเล็บ หรือรองเท้าและของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
3. ไม่ควรใช้วิธีตัดเซาะหรือเลาะเล็มส่วนด้านข้างของเล็บ หรือให้ช่างทำเล็บตัดเล็บอย่างไม่ถูกวิธี เพราะทำให้เกิดเล็บขบ ติดเชื้อแทรกซ้อนเพิ่มเติม
4. ไม่ควรเดินเท้าเปล่าบนดินหรือพื้นผิวสกปรก และควรเลือกรองเท้าหรืออุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม
5. เลือกชนิดรองเท้าหรืออุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม ไม่ควรรัดแน่น อับชื้น หรือเปิดปลายเท้า
ทั้งนี้ หากสังเกตเห็นโรคเชื้อราขึ้นตามผิวหนังบริเวณอื่น เช่น มือ เท้าและลำตัว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธี เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อราที่เล็บหรือที่ผิวหนังบริเวณอื่นตามมา