“โรคอ้วน” กับการรักษาด้วยการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะ

0

ปัจจุบันคนไทยมีผู้ป่วยโรคอ้วนจำนวนมาก เนื่องจากการรับประทานอาหารเกินความต้องการและขาดการออกกำลังกาย สำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคอ้วนแบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกจะใช้วิธีการคุมปริมาณอาหาร ร่วมกับการออกกำลังกาย ส่วนกลุ่มหลังจะใช้วิธีลดน้ำหนักด้วยวิธีผ่าตัดส่องกล้องลดขนาดกระเพาะอาหาร

“โรคอ้วน”

เป็นปัจจัยที่นำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนของโรคเรื้อรังต่างๆ ซึ่งทำให้ลดคุณภาพชีวิตและเพิ่มอัตราการเสียชีวิต ดังนั้น จึงควรลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติโดยการควบคุมอาหารและออกกำลังกายเป็นหลัก ส่วนการใช้ยาลดน้ำหนักเป็นตัวช่วยเสริมเท่านั้น ซึ่งถ้าควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างเต็มที่แล้วไม่สามารถลดน้ำหนักได้ตามเกณฑ์ที่ต้องการ

“การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะ” เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้การลดน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะคนไข้เบาหวานที่มีน้ำหนักตัวมาก

obesity-with-gastric-bypass-surgery

ข้อมูลจาก รศ.นพ.สุเทพ อุดมแสวงทรัพย์ ศัลยแพทย์ส่องกล้องและการผ่าตัดโรคอ้วน ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ ระบุว่า…

เกณฑ์สำหรับผู้ที่มีความอ้วนแล้วเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนคือ ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 30 ในส่วนของการรักษาโรคนั้น กลุ่มที่มีค่าดัชนีมวลกายไม่เกิน 32.5 จะใช้วิธีการคุมปริมาณอาหารลดแป้ง น้ำตาล และไขมัน ร่วมกับการออกกำลังกาย

ส่วนกลุ่มที่มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 32.5 ขึ้นไปและมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ร่วมด้วย (ใช้วิธีการรักษาด้วยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย หรือรับประทานยาไม่ได้ผล) แพทย์จะแนะนำวิธีลดน้ำหนักด้วยวิธีผ่าตัดส่องกล้องแบบ Minimally Invasive Surgery (MIS) โดย ‘การผ่าตัดส่องกล้องลดขนาดกระเพาะอาหาร’ เพื่อลดขนาดและลดการดูดซึมของกระเพาะอาหารเป็นการผ่าตัดที่มีแผลขนาดเล็กฟื้นตัวเร็ว

โดยหลังผ่าตัดต้องมีการติดตามภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เพื่อประเมินน้ำหนักที่ลดลงและปรับลดยาต่างๆ รวมถึงประเมินภาวะโภชนาการ ซึ่งคนไข้ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินหลายๆ อย่าง อาทิ รับประทานโปรตีนอย่างน้อย 60-120 กรัมต่อวัน หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันหรือน้ำตาลสูง รับประทานอาหารมื้อเล็กๆ แต่บ่อยๆ และต้องรับประทานวิตามินและเกลือแร่ตลอดชีวิต และต้องออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ เพื่อให้การลดน้ำหนักมีประสิทธิภาพดีขึ้นและป้องกันน้ำหนักเพิ่มขึ้นในระยะยาว

สำหรับผู้ที่อยากผอมหรือน้ำหนักยังไม่ถึงเกณฑ์ว่าอ้วน ไม่แนะนำให้รักษาด้วยวิธีนี้ เนื่องจากการผ่าตัดมีความเสี่ยงสูง อาจเกิดอาการแทรกซ้อนต่างๆ ได้ รวมถึงอาจได้ผลลัพธ์ที่ไม่คุ้มค่าค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *