การควบคุมอาหารมีความสำคัญต่อผู้ป่วย “โรคไต” เพราะจะช่วยชะลอการเสื่อมของไตลดภาระการทำงานของไต ทำให้ไตส่วนที่เหลืออยู่ไม่ต้องทำงานหนักเกินตัวลดการคั่งของของเสียที่เกิดจากการรับประทานอาหาร ช่วยยืดเวลาที่จะต้องล้างไตให้ช้าลงรวมถึงช่วยให้มีสุขภาพดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ผู้ป่วยโรคไตควรจำกัดและหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด เนื่องจากเมื่อไตไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ การได้รับสารอาหารบางชนิดมากเกินไปอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ ร่างกายมีการสะสมของเสียมากเกินไป
1. โซเดียม
เมื่อเป็นโรคไตร่างกายจะไม่สามารถกำจัดโซเดียมส่วนเกินออกไปได้ ทำให้เกิดมีน้ำคั่งและเกิดอาการบวม ความดันโลหิตสูง มีน้ำท่วมปอด และอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ โดยอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น ปลาเค็ม แฮม เบคอน ไส้กรอก อาหารดอง ขนมขบเคี้ยว เนยแข็ง รวมถึงขนมปังเนื่องจากมีการใช้ผงฟู
2. โพแทสเซียม
เมื่อไตทำงานลดลงจะลดการขับโพแทสเซียมทางปัสสาวะ ทำให้เกิดการสะสมของโพแทสเซียม ถ้ามีสูงจะเริ่มมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นตะคริว หรือหัวใจเต้นผิดปกติได้ โดยอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น ผลไม้แห้ง ทุเรียน มะขาม แคนตาลูป น้ำลูกยอ มะเขือเทศ ผักใบเขียว หัวผักกาด กล้วย ส้ม มะละกอ ขนุน เป็นต้น
3. ฟอสฟอรัส
เมื่อไตวาย ร่างกายจะมีปัญหาการดูดซึมแคลเซียมและการกำจัดฟอสฟอรัสทำให้ร่างกายได้รับแคลเซียมน้อยและมีฟอสฟอรัสในเลือดมากเกินไป โดยอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น รำข้าว เนยแข็ง นมและผลิตภัณฑ์จากนม นมข้นหวาน ไข่ปลา ไข่แดง กุ้ง ปู ผลิตภัณฑ์ที่ใส่ผงฟู ถั่วเมล็ดแห้ง น้ำอัดลม เป็นต้น
4. โปรตีน
ผู้ป่วยโรคไตยังต้องรับประทานอาหารที่ให้โปรตีนเพราะเป็นสารอาหารที่ร่างกายต้องการ แต่ควรจำกัดปริมาณอาหารที่มีโปรตีนสูงทั้งจากพืชและเนื้อสัตว์ไม่ให้มากเกินไป เพื่อเป็นการลดการทำงานของไต โดยอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น ไข่แดง เครื่องในสัตว์ หนังหมู-เป็ด-ไก่ เนื้อหมูและเนื้อวัวติดมัน ไข่ปลา ไข่กุ้ง เอ็นหมู-วัว-ไก่ หูฉลาม ตีนเป็ด ตีนไก่ หนังสัตว์ กระดูกอ่อน รวมทั้งถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ
ทั้งนี้ ควรรับประทานอาหารให้หลากหลายในแต่ละมื้ออาหารและครอบคลุมกลุ่มข้าว เนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ พยายามปรุงรสอาหารให้น้อยที่สุด หากต้องการเพิ่มรสชาติอาหารแนะนำให้ใช้เครื่องเทศ