ในบุหรี่ 1 มวน จะมีสารนิโคตินประมาณ 10 มิลลิกรัม
เมื่อสูบเข้าไปนิโคตินจะซึมเข้าสู่กระแสเลือดไปยังปอด ออกฤทธิ์ต่อสมองและระบบประสาท และอาจความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ “นิโคติน” ในบุหรี่ ยังทำลายสุขภาพจิต ก่ออาการซึมเศร้า วิตกกังวล ซ้ำยังขวางการรักษาผู้ป่วยจิตเวช ทำฤทธิ์ยาอ่อนลง
พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า…
ผลวิจัยของวงการจิตแพทย์ระดับโลก ระบุว่า นิโคตินจะออกฤทธิ์กระตุ้นที่สมองส่วนหน้าที่มีชื่อว่า คอร์เทกซ์ ทำหน้าที่คล้ายกุญแจเข้าไปปลดล็อกโมเลกุลของประสาทตัวรับรู้ ให้ปล่อยสารสื่อประสาทชื่อโดปามีน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดความสุขใจ และจะทำให้ร่างกายสูญเสียความสามารถในการสร้างโดปามีนด้วยตัวเอง ยิ่งสูบมากก็จะมีประสาทตัวรับรู้และตัวสั่งมากขึ้น จึงเกิดความต้องการนิโคตินมากขึ้น
เมื่อสมองวัยรุ่นถูกกระตุ้นอยู่ในสภาพนี้นานๆ จะทำให้เกิดผลข้างเคียง คือ อาการวิตกกังวล อาการซึมเศร้า จึงต้องสูบเพื่อเติมนิโคตินเข้าไป ให้ความรู้สึกกลับคืนมา
จึงกล่าวได้ว่าบุหรี่มีผลกระทบต่อสุขภาพจิตโดยตรง และผลวิจัยยังพบว่า บุหรี่เป็นยาเสพติดต้นทางของยาเสพติดชนิดร้ายแรงขึ้น และมีผลการศึกษาในหนูทดลองด้วยว่ามีผลกระตุ้นความต้องการทางเพศเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ผลการศึกษาในกลุ่มของผู้ป่วยจิตเภท พบว่า สูบบุหรี่มากถึงร้อยละ 70 – 90 และสูบเฉลี่ยประมาณวันละ 20 มวน นับว่า มีการเสพนิโคตินเข้าไปในระดับที่สูงมาก ซึ่งเป็นอุปสรรคในการรักษาอย่างมาก เพราะผู้ป่วยจะเลิกสูบบุหรี่ยาก
เนื่องจากพอหยุดสูบบุหรี่ จะทำเกิดอาการซึมเศร้า เมื่อสูบบุหรี่เข้าไปด้วย ฤทธิ์ของนิโคตินจะไปทำให้ตับกำจัดยาที่รักษาออกจากร่างกายเร็วขึ้น ทำให้ฤทธิ์ยาอ่อนลง บางรายต้องเพิ่มขนาดยารักษาขึ้นอีก หรือทำให้อาการโรคกำเริบเร็วขึ้น
สูบบุหรี่มีแต่โทษ แถมยังเป็นการสิ้นเปลืองเงินทองโดยใช้เหตุอีกด้วย ไม่อยากสุขภาพกายและสุขภาพจิตพัง รีบลด ละ เลิกบุหรี่เสียแต่วันนี้นะคะ