“โนโมบายโฟนโฟเบีย” (No Mobile Phone Phobia) หรือ “โนโมโฟเบีย”
เป็นคำศัพท์ที่องค์การวิจัยของสหราชอาณาจักร บัญญัติขึ้นเมื่อปี 2008 คือ อาการขาดมือถือไม่ได้ เสพติดมือถือ จัดอยู่ในกลุ่มอาการวิตกกังวล เช่น ผู้ที่มีมือถือแต่ใช้การไม่ได้ เนื่องจากอยู่ในที่ที่ไม่มีสัญญาณ หรือแบตเตอรีหมด จะรู้สึกหงุดหงิด กระวนกระวาย บางรายหากเป็นมาก อาจเครียด ตัวสั่น เหงื่อออก และคลื่นไส้ได้
หากคุณมีพฤติกรรมเหล่านี้ รู้ไว้ซะว่าคุณมีอาการโนโมโฟเบีย
- พกโทรศัพท์มือถือติดตัวตลอดเวลา
- รู้สึกกังวลใจหากมือถือไม่อยู่กับตัว กลัวมือถือหาย
- หมกมุ่นอยู่กับการเช็กข้อความ หรือข้อมูลในมือถือตลอดเวลา และดูโทรศัพท์บ่อยๆ แม้ไม่มีเรื่องด่วน
- เมื่อได้ยินเสียงเตือนเข้ามาจะวางงานเพื่อเช็กข้อความในมือถือทันที
- เล่นมือถือก่อนนอน หลังตื่นนอน หรือขณะทำกิจกรรมประจำวัน เช่น ทานอาหาร เข้าห้องน้ำ หรือนั่งรถ
- แทบไม่เคยปิดมือถือ
- ชอบมองโทรศัพท์บ่อยๆ
- มักจะชาร์ตแบตเตอรี่ให้เต็มตลอดเวลา หรือไม่ก็มีแบตเตอรี่สำรองติดตัวตลอดเวลาเดินทางไปไหน
- ใช้เวลาพูดคุยกับเพื่อนในโลกออนไลน์มากกว่าคุยกับเพื่อนที่อยู่ตรงหน้า
“โนโมโฟเบีย” ไม่เพียงเป็นกลุ่มอาการที่ส่งผลกระทบการทำงาน การเรียน รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวัน ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพมากมาย เช่น นิ้วล็อก ข้อมืออักเสบ ตาแห้ง สายตาเสื่อมเร็ว กล้ามเนื้อที่คอ บ่า ไหล่เกร็ง และปวดเมื่อย จากการก้มหน้าเพ่งจอเป็นเวลานาน และทำให้หมอนรองกระดูกที่คอเสื่อมก่อนวัยอันควร เส้นประสาทสันหลังที่บริเวณส่วนคอ ถูกกดทับ เกิดอาการชาที่แขน มือไม่มีแรง หรือเดินโคลงเคลงเหมือนจะล้ม
นอกจากนี้อาการโนโมโฟเบียยังนำไปสู่โรคอ้วนได้ง่ายจากการนั่งอยู่กับที่นานๆ
เห็นผลเสียมากมายอย่างนี้แล้ว ทางทีดีคุณควรลด ละ เลิก พฤติกรรมติดมือถือซะตั้งแต่วันนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีจะได้อยู่กับคุณไปนานๆ พยายามใช้มือถือเท่าที่จำเป็น จำกัดเวลาการเล่นมือถือ หากิจกรรมอย่างอื่นทดแทน เช่น อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย ท่องเที่ยว หรือนัด Hang out กับเพื่อนๆ (เวลาเจอกันก็อย่ามัวแต่หมกมุ่นกับมือถือจนลืมเพื่อนล่ะ)