ฤดูฝนถือเป็นช่วงระบาดของ “โรคไข้เลือดออก” โรคอันตรายที่หากปล่อยปละละเลยอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ล่าสุดมีการแชร์ข้อมูล ให้ระวังไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งทำให้เกิดโรคกิลแลงเบอร์เร หรือการอักเสบของเส้นประสาทจนเกิดกล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง อันตรายขนาดนี้ปล่อยผ่านไม่ได้แล้วล่ะค่ะ!
กรณีโซเซียลมีเดียเผยแพร่ข้อมูลโรคไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่จนสร้างความตื่นตระหนกอย่างมากนั้น ล่าสุด นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) ได้ให้ข้อมูลว่า
โรคไข้เลือดออกมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งในแถบประเทศอาเซียนสามารถพบได้ 4 สายพันธุ์
โดยเชื้อไวรัสเดงกีแต่ละสายพันธุ์มีความรุนแรงไม่แตกต่างกันมาก ในแต่ละประเทศก็จะมีผู้ป่วยแต่ละสายพันธุ์สลับกันไป ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ นอกเหนือจาก 4 สายพันธุ์ที่เคยพบมาแล้ว หากป่วยเป็นครั้งแรกอาการจะไม่รุนแรง แต่ถ้าป่วยเป็นครั้งที่สองอาการจะรุนแรงขึ้น ในเชื้อที่ต่างจากชนิดที่เป็นครั้งแรก
ปี 2559 ที่ผ่านมาในประเทศไทยมีผู้ป่วยทั่วประเทศ 63,931 ราย เสียชีวิต 64 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ15-24 ปี รองลงมา 10-14 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ ส่วนในปี 2560 นี้มีผู้ป่วยทั่วประเทศแล้ว 11,062 ราย เสียชีวิต 19 ราย ซึ่งธรรมชาติของโรคไข้เลือดออกจะพบการระบาดแบบปีเว้นปี หรือปีเว้นสองปี
เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคไข้เลือดออกทุกคนจึงควรเตรียมความพร้อมใน 3 เรื่องสำคัญ คือ…
- การป้องกันการถูกยุงกัด โดยทายากันยุง นอนในมุ้ง กำจัดยุงตัวเต็มวัยด้วยสเปรย์ ไม้ช็อตไฟฟ้า พร้อมกำจัดลูกน้ำและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในภาชนะน้ำใส นิ่ง
- การเฝ้าระวังอาการของโรค ได้แก่ ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร หน้าแดง ผิวหนังเป็นจุดเลือด อาเจียน ปวดท้อง
- การไปพบแพทย์เร็วเมื่อป่วยและมีไข้สูง เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยโรค และเฝ้าระวังเป็นพิเศษในช่วงไข้ลดหากเกิดอาการช็อกจากไข้เลือดออก ต้องรีบกลับไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด หากช้าอาจทำให้เสียชีวิตได้
ผลพลอยได้จากการเตรียมความพร้อมใน 3 เรื่องสำคัญข้างต้น นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงจากโรคไข้เลือดออกแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ได้อีกด้วยค่ะ