ใครจะคิดว่าบาดแผลเล็กขนาดแค่ “แผลแมวข่วน” จะทำอันตรายร้ายแรงหรือทำให้เกิดบาดแผลสาหัสหรือลุกลามร้ายแรงจนถึงขั้นจะต้องตัดแขนตัดขา หากรักษาช้าเกินไปได้ แต่มันเป็นไปแล้ว หากบาดแผลฉกรรจ์ที่ว่าเกิดจากโรค “แบคทีเรียกินเนื้อ”เพื่อป้องกันตัวจากอาการดังกล่าว เรามาเติมความรู้เกี่ยวกับโรคนี้กัน
“โรคแบคทีเรียกินเนื้อ” (Necrotizing Fasciitis)
หรือ “โรคเนื้อเน่า” เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียอย่างรุนแรงที่ผิวหนังชั้นลึก ตั้งแต่ชั้นหนังกำพร้า ชั้นหนังแท้ ชั้นไขมัน ไปจนถึงชั้นเนื้อเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อมักพบในผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันต่ำ อาทิ โรคเบาหวาน โรคตับแข็ง โรคมะเร็ง การติดเชื้อมักพบหลังประสบอุบัติเหตุทำให้เกิดแผลและสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่มีเชื้อแบคทีเรีย สาเหตุของโรคเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียโดยแบ่งเป็น 2 ชนิดชนิดที่ 1 เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดร่วมกัน ส่วนชนิดที่ 2 เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดเดียว ทั้งนี้ส่วนใหญ่จะเกิดจากการติดเชื้อหลายชนิด
ในระยะแรกผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดบวม แดง ร้อน ที่ผิวหนังอย่างมากโดยอาการปวดจะรุนแรงมากแม้บาดแผลจะมีขนาดเล็กก็ตาม ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้อาการบวมแดงจะลามอย่างรวดเร็ว อาจมีตุ่มน้ำร่วมด้วย ต่อมาสีของผิวหนังจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีม่วงและมีเนื้อตายเกิดขึ้น เมื่อมีเนื้อตายเกิดขึ้นผู้ป่วยอาจมีอาการชามาแทนที่อาการเจ็บปวดมักจะมีไข้สูงและการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดร่วมด้วยผู้ป่วยอาจมีภาวะช็อคและมีการทำงานที่ลดลงของอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ไต เป็นต้น มักพบการติดเชื้อบ่อยที่บริเวณแขนขาและเท้า
ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลโดยการใช้ยาต้านจุลชีพในรูปยาฉีดร่วมกับการผ่าตัดการวินิจฉัยและรักษาในระยะต้นของโรคจะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยลงได้โดยความรุนแรงของโรคจะขึ้นอยู่กับโรคประจำตัวของผู้ป่วยและบริเวณของการติดเชื้อ ถ้าผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นโรคเบาหวาน หรือเป็นโรคตับแข็ง จะทำให้มีโอกาสที่เชื้อจะลุกลามอย่างรวดเร็ว ส่วนบริเวณของการติดเชื้อที่กว้างหรือลึกมากจะทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการเสียชีวิตที่มากขึ้น
แม้ “โรคแบคทีเรียกินเนื้อ” จะเป็นภาวะที่พบได้น้อยมาก แต่เพื่อความปลอดภัย เมื่อเกิดแผลควรรีบทำความสะอาดอย่างถูกวิธี หากรู้สึกผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่นๆ