อยู่ในลิสต์ 1 ใน 12 โรคที่ต้องเฝ้าระวังในปี 2567 จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำหรับ “โรคฝีดาษวานร” คาดว่าจะมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มสูงสุดในช่วงเดือน ต.ค.นี้ โดยจะมีผู้ป่วยประมาณ 394 คน ไม่อยากเสี่ยงโรคนี้ นี่วิธีป้องกันตนเองจากโรคฝีดาษวานร พร้อมข้อควรรู้ ทำอย่างไรเมื่อต้องอยู่กับผู้ป่วย
โรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง (Monkeypox) คือ โรคสัตว์สู่คน (Zoonosis Diseases) ที่เกิดจากเชื้อไวรัส กลุ่ม Orthopoxvirus ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกันกับเชื้อไวรัสโรคฝีดาษ โดยมี 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ West African clade อาการไม่รุนแรง อัตราป่วยตายอยู่ที่ร้อยละ 1 และสายพันธุ์ Central African clade ซึ่งอาการรุนแรงกว่า อัตราป่วยตายอยู่ที่ร้อยละ 10 เชื้อไวรัสฝีดาษลิงพบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ รวมทั้งคนก็สามารถติดโรคได้
การแพร่เชื้อจากคนสู่คนเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสโดยตรงกับแผล หรือสารคัดหลั่งทางเดินหายใจของผู้ป่วย หรือสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า ซึ่งกลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรง ได้แก่ ผู้ติดเชื้อ HIV รายใหม่/ ขาดยาต้านไวรัส, ผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ, ผู้ป่วยมะเร็ง, ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ, หญิงตั้งครรภ์/ ให้นมบุตร, เด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี
วิธีป้องกันตนเองจากโรคฝีดาษวานร
1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้มีผื่นสงสัยโรคฝีดาษวานร
2. เลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จัก
3. ไม่สัมผัส ตุ่ม หนอง หรือบาดแผลของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือซากสัตว์ป่า และบริโภคเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุก
4. สวมหน้ากากอนามัย
5. หมั่นล้างมือบ่อยๆ
6. ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
7. หากสงสัยว่าติดเชื้อให้แยกตัวออกครอบครัว/บุคลลใกล้ชิด และรีบพบแพทย์เพื่อตรวจการวินิจฉัยและรักษา
หากต้องอยู่ร่วมกับผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรต้องทำอย่างไร?
1. ไม่สัมผัสใกล้ชิด หรือสัมผัสผิวหนังผู้ป่วย
2. ไม่รับประทานอาหารร่วมกับผู้ป่วย ไม่ใช้จาน ช้อนส้อม แก้วน้ำ ร่วมกับผู้ป่วย
3. ไม่ซักผ้ารวมกับของผู้ป่วย
4. ไม่ใช้ของใช้ร่วมกับผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า ผ้าขนหนู และเครื่องนอน
5. แยกห้องน้ำกับผู้ป่วย แต่หากจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้ป่วย ให้ผู้ป่วยใช้คนสุดท้าย และเช็ดทำความสะอาดโถสุขภัณฑ์ หรือพื้นที่ที่อาจปนเปื้อนสารคัดหลั่ง ด้วยน้ำยาทำความสะอาดทุกครั้งหลังใช้งาน
6. แยกขยะที่สัมผัสสารคัดหลั่งของ เช่น เลือด น้ำจากผื่นหรือตุ่ม ทิ้งในถังขยะติดเชื้อ
ฉะนั้นแล้ว หากต้องอาศัยอยู่ร่วมกับผู้ป่วยฝีดาษวานร ก็สามารถปฏิบัติตามหลัก 6 ข้อข้างต้นนี้ได้ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ แยกอาศัย แยกของใช้ ไม่สัมผัส จนกว่าผู้ป่วยจะพ้นระยะแพร่กระจายเชื้อได้ คือ จนกว่าผื่น ตุ่ม หรือแผลของผู้ป่วยตกสะเก็ด สะเก็ดหลุด และมีผิวหนังปกตินั่นเอง
ทั้งนี้ หากมีความเสี่ยง หรือสงสัยว่าติดเชื้อโรคฝีดาษวานร สามารถเข้ารับการตรวจที่สถานพยาบาล โดยแจ้งรายละเอียดอาการและประวัติเสี่ยงแก่เจ้าหน้าที่ หรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422