“โรคหูดข้าวสุก” แค่สัมผัสก็ติดได้

0

อีกหนึ่งโรคติดต่อที่ยังคงพบได้อยู่สม่ำเสมอ สำหรับ “หูดข้าวสุก” เนื่องจากเป็นโรคสามารถติดต่อโดยการสัมผัสทางผิวหนัง รวมถึงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง สามารถพบได้ทุกวัย โดยมักแสดงอาการในผู้ที่มีภูมิต้านทานของร่างกายอ่อนแอ ไม่อยากเสี่ยง มารู้จักโรคนี้เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกัน

 

โรคหูดข้าวสุก มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส Molluscum contagiosum virus เรียกย่อว่า ไวรัส MCV ระยะฟักตัวตั้งแต่ 3-12 สัปดาห์ สามารถติดต่อจากการสัมผัสโดยตรงระหว่างผิวหนังกับผิวหนัง เช่น การจับทารกหลังจากจับรอยโรค อาจทำให้ทารกเป็นหูดข้าวสุกได้ หรือการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดตัว

 

40

 

เด็กเล็กจะสามารถติดหูดข้าวสุกได้มากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากระบบภูมิต้านทานยังพัฒนาไม่เต็มที่ และพบอาการทุกส่วนของร่างกาย เช่น ข้อพับแขน-ขา และ ลำตัว เป็นต้น ส่วนในวัยเจริญพันธุ์มักพบรอยโรคที่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ จึงถือได้ว่าเพศสัมพันธ์เป็นการถ่ายทอดเชื้อโรคอีกวิธีหนึ่ง โดยทั่วไปโรคหูดข้าวสุกสามารถหายเองได้ โดยป้องกันการติดต่อและการแพร่กระจายการติดเชื้อแทรกซ้อนของโรค

 

หูดข้าวสุก มีลักษณะเป็นตุ่มนูนรูปครึ่งวงกลม สีเนื้อ หรือขาวขุ่น ค่อนข้างแข็ง ผิวเรียบมัน อาจมีรอยบุ๋มตรงกลางตุ่ม ถ้าสะกิดและกดตุ่มออกจะได้เนื้อสีขาวขุ่นคล้ายข้าวสุก ตุ่มอาจอยู่รวมกันเป็นกลุ่มหรือเรียงกันเป็นแนวยาว และหายได้เองโดยไม่ต้องรักษาแต่ต้องใช้เวลาหลายเดือน สำหรับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจพบตุ่มขนาดใหญ่ หรือมีจำนวนมาก

 

แม้หูดข้าวสุกมักหายได้เองใน 6-9 เดือน แต่ไม่ควรปล่อยไว้เฉย ๆ ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเพื่อป้องกันการแพร่กระจาย  เพราะหากไม่ได้รับการรักษา ก็สามารถแพร่กระจายการติดเชื้อไปยังคนรอบข้าง หรือแพร่เชื้อไปยังคู่นอนได้ และอาจจะได้รับเชื้อกลับเข้ามาอีก การรักษาทำเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคสู่ผู้อื่นและตนเองเพื่อไม่ให้รอยโรคกระจายบริเวณกว้างขึ้น

 

ปัจจัยเสี่ยงหลักที่จะเกิดโรคหูดข้าวสุก คือ การสัมผัสกับรอยโรค หรือสิ่งของที่มีเชื้อไวรัส MCV อยู่ ดังนั้น การลดปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อโรคหูดข้าวสุกทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสรอยโรค รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ล้างมือเป็นประจำ ทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ที่ใช้ร่วมกัน และไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า แก้วน้ำ รองเท้า และไม่ควรว่ายน้ำขณะที่มีบาดแผล ที่สำคัญห้ามแกะ เกา ตุ่มเพราะอาจทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียได้

 

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโดยตรงเฉพาะโรค  ปัจจุบันใช้ทางเลือกสำหรับการรักษาโรคหูดข้าวสุก คือ

  1. การจี้ความเย็นคือการจี้ด้วยไนโตรเจนเหลวจนทำให้เกิดวงน้ำแข็งขึ้นรอบตุ่ม อาจต้องทำซ้ำหลายครั้ง
  2. การบีบตุ่มโรคให้แตก
  3. การใช้ไม้สะอาดปลายแหลมบ่งตุ่มโรค

 

อย่างไรก็ตาม การรักษาทางเลือกต้องอยู่ใต้ใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง ไม่สามารถรักษาด้วยตนเองได้เพราะอาจทำให้โรคกำเริบ ลุกลามไปบริเวณอื่น หรือติดเชื้อโรคแทรกซ้อนได้

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *