ปวดแบบไหนที่เรียกว่า “ไมเกรน”
ไมเกรน (Migraine) เป็นอาการปวดศีรษะที่พบบ่อยในเพศหญิงโดยเฉพาะในวัยทำงาน ซึ่งหากปวดรุนแรงมากสามารถทำให้รบกวนกิจวัตรประจำวันได้
ปวดศีรษะอย่างไรที่เรียกว่า “ปวดไมเกรน”
1. ปวดศีรษะเป็นเวลานานต่อเนื่องตั้งแต่ 4 ถึง 72 ชั่วโมง
2. มีอาการปวดศีรษะข้างเดียว ร่วมด้วยปวดแบบตุ๊บๆ โดยเฉพาะปวดมากขึ้นเมื่อถูกกระตุ้นด้วยการเคลื่อนไหว ความรุนแรงของอาการปวดปานกลางถึงปวดมาก จนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้
3. บางคนมีอาการปวดศีรษะควบคู่กับอาการคลื่นไส้อาเจียน หรือมีอาการแย่ลงจากการกระตุ้นต่อแสงแดดหรือเสียงดัง ตาพร่ามัว เห็นแสงระยิบระยับร่วมด้วย
สำหรับปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดไมเกรนได้แก่
“ฮอร์โมน” การเปลี่ยนแปลงของเอสโตรเจนมีผลต่อการกระตุ้นให้เกิดอาการปวด เช่น ในหญิงช่วงก่อนมีประจำเดือน ตั้งครรภ์ หมดประจำเดือน
“อาหาร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” โดยเฉพาะเบียร์ ไวน์แดง ชีส ช็อกโกแลต อาหารหมักดอง ฯลฯ
“ความเครียด” จากการทำงาน เช่น ทำงานหนัก
“สิ่งกระตุ้นระบบความรู้สึก” แสงจ้า เสียงดัง กลิ่น
“การเปลี่ยนแปลงวงจรการหลับตื่น” การนอนมากเกินไป หรือการอดนอน
“ยาบางชนิด” เช่น ยาขยายหลอดเลือด การใช้ยาแก้ปวดมากเกินไป
การปวดศีรษะไมเกรนแม้ไม่หายขาดแต่การรักษาโดยใช้ยาร่วมกับการปรับพฤติกรรม ก็สามารถช่วยให้ดีขึ้นได้ โดยลดความรุนแรงและความถี่ของอาการปวดลงได้ดีมาก แม้กระทั่งสามารถยับยั้งอาการปวดได้ตั้งแต่เริ่มปวดหากได้รับการรักษาที่ดี ฉะนั้นเมื่อสงสัยว่ามีการปวดศีรษะไมเกรนควรรีบไปพบแพทย์
ใส่ใจสุขภาพช่วยบรรเทาไมเกรนได้
1. สังเกตพฤติกรรมของตัวเอง การจดบันทึกเพื่อช่วยหาปัจจัยกระตุ้น สังเกตว่าเริ่มปวดเมื่อใด นานเท่าใด อะไรทำให้ดีขึ้นอะไรทำให้แย่ลง ผลการตอบสนองต่อยาที่ใช้ว่า อาหารที่ทานในแต่ละวันมีผลอย่างไร
2. ออกกำลังกายโดยวิธีคลายกล้ามเนื้อ เช่น นั่งสมาธิ โยคะ หรือผ่อนคลายโดยวิธีอื่นๆ
3. พักผ่อนให้เพียงพอ และไม่มากเกินไป โดยเฉลี่ยควรนอน 5 ถึง 9 ชั่วโมงต่อคืน
4. พักและผ่อนคลาย พักในห้องที่มืดและเงียบสงบ เมื่อเริ่มรู้สึกปวด ใช้แผ่นเย็นวางบริเวณหลังคอ นวดเบาๆ บริเวณศีรษะที่ปวด