“โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก” โรคร้ายที่หลายประเทศกำลังเฝ้าระวัง

0

เมื่อกล่าวถึง “โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก” เชื่อว่าคนส่วนใหญ่มักไม่รู้จัก หรือหากเคยได้ยินได้เห็นเกี่ยวกับโรคนี้ผ่านหูผ่านตามาบ้าง เชื่อว่าก็คงปล่อยผ่านเพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ขอบอกว่าแม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่เคยเกิดขึ้น แต่ก็ควรเฝ้าระวังไว้ เพราะการเข้ามาของนักท่องเที่ยวอาจก่อให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อได้

“โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก” (Marburg virus disease; MVD) อยู่ในตระกูลเดียวกับไวรัสอีโบลา (Ebola) ซึ่งการติดเชื้อทำให้เกิดอาการไข้และเลือดออก มีค้างคาวผลไม้เป็นสัตว์รังโรค การติดเชื้อในคนเริ่มแรกเป็นผลมาจากการสัมผัสในเหมืองหรือถ้ำที่มีค้างคาวผลไม้อยู่อาศัยเป็นกลุ่มเป็นระยะเวลานาน เมื่อเชื้อถูกแพร่ไปยังคนแล้ว คนนั้นจะสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งที่ออกมาจากร่างกายของผู้ติดเชื้อได้เหมือนกับโรคอีโบลา

ไวรัสมาร์บวร์ก ถูกพบในปี พ.ศ. 2510 (ค.ศ.1967) จากการระบาดครั้งแรกในเมืองมาร์บวร์ก และแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี รวมทั้งเมืองเบลเกรดในประเทศเซอร์เบีย ซึ่งขณะนั้นเกี่ยวข้องกับห้องปฏิบัติการที่ใช้ลิงเขียวแอฟริกาที่นำมาจากประเทศยูกันดา หลังจากนั้นพบผู้ป่วยโรคไวรัสมาร์บวร์กเพิ่มประปราย ประเทศที่เคยพบการระบาดของโรค ได้แก่ ประเทศในทวีปแอฟริกา เช่น แองโกลา เคนยา ยูกันดา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก สำหรับในทวีปยุโรป พบผู้เสียชีวิตเพียงรายเดียวในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา และอีกหนึ่งรายในสหรัฐอเมริกา หลังจากกลับจากการสำรวจถ้ำในประเทศยูกันดา

องค์การอนามัยโลกรายงานพบการระบาดของโรคนี้ที่รัฐบาลสาธารณรัฐอิเควทอเรียลกินี (Equatorial Guinea) ประเทศในภูมิภาคตอนกลางของทวีปแอฟริกา ซึ่งได้มีการประกาศให้เป็นโรคระบาดร้ายแรง โดยพบผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อ 25 ราย เสียชีวิต 9 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตทั้งหมดมีอาการติดเชื้อรุนแรง เป็นไข้และอาเจียนเป็นเลือด ส่วนผู้ป่วยมีอาการไข้ อ่อนเพลีย อาเจียนเป็นเลือด และท้องเสีย ได้มีการกักกันผู้สัมผัสเสี่ยงสูงประมาณ 200 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566) สำหรับประเทศไทยกำหนดให้โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กเป็น 1 ใน 13 โรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง แม้ยังไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยในประเทศไทยมาก่อน

โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กมีระยะฟักตัวตั้งแต่ 2-21 วัน หลังจากสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อหรือสัตว์นำโรค ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว มีผื่นแต่ไม่คัน ต่อมาจะมีเลือดออกตามผิวหนังและอวัยวะต่าง ๆ เช่น อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระดำหรือเป็นเลือด เลือดออกตามจมูก ปาก และช่องคลอด บางรายมีภาวะตับหรืออวัยวะอื่น ๆ ล้มเหลว หรือเกิดภาวะช็อกได้ ผู้ป่วยหลายรายมีอาการตกเลือดอย่างรุนแรงภายใน 7 วัน ผู้ป่วยมักเสียชีวิตอย่างรวดเร็วในช่วง 8-9 วันหลังจากมีอาการวันแรก โดยมีรายงานอัตราป่วยตายสูงถึงร้อยละ 24-90 ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันและไม่มียารักษาจำเพาะ แพทย์จะรักษาตามอาการร่วมกับให้สารน้ำหรือเลือดทดแทน

วิธีป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก ทำได้โดยผู้ที่จะเดินทางไปประเทศแถบแอฟริกากลางหรือประเทศที่กำลังมีการระบาด ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์รังโรค ควรล้างมือด้วยสบู่หลังสัมผัสสัตว์ เนื้อสัตว์ หรือซากสัตว์ หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับผู้มีอาการป่วย สารคัดหลั่งของผู้ป่วย หรือผู้สงสัยติดเชื้อโดยไม่ใส่อุปกรณ์ป้องกัน รวมถึงไม่รับประทานเนื้อสัตว์ป่า ส่วนผู้ที่มีประวัติการติดเชื้อ ควรสวมใส่ถุงยางอนามัยจนกว่าผลตรวจอสุจิเป็นลบ 2 ครั้ง

ทั้งนี้ หากผู้เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดของโรคมีอาการสงสัยให้รีบไปพบแพทย์โดยทันที และหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *